นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานสำรวจผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม พบว่ามีสหกรณ์ได้รับความเสียหาย 300 แห่ง สมาชิกสหกรณ์ 60,000 ราย เบื้องต้นระดมความช่วยเหลือจากสหกรณ์ภาคต่าง ๆ จัดหาถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภคและมอบเงินบริจาคให้สหกรณ์ในพื้นที่น้ำท่วม พร้อมเตรียมมาตรการระยะยาวเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอพักชำระหนี้ให้สมาชิกสหกรณ์ที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นเวลา 1 ปี พร้อมจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ 300 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ยืมไปช่วยเหลือสมาชิกในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด เพื่ออบรมและให้บริการซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร
จากการติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสกลนคร นครพนม เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้มี 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครพนม มหาสารคาม ร้อยเอ็ดและมุกดาหาร ซึ่งอยู่ในแถบบริเวณเทือกเขาภูพาน
"พบว่า มีสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม 300 แห่ง จำนวนสมาชิกประมาณ 50,000-60,000 คนที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากน้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหาย" นายวิณะโรจน์ กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้ระดมความช่วยเหลือจากขบวนการสหกรณ์ในภาคต่าง ๆ ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลาง ส่งเครื่องอุปโภคบริโภค ถุงยังชีพ และอาหารไปให้สหกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมนำไปแจกจ่ายให้สมาชิกและครอบครัวผู้ประสบภัย ซึ่งขณะนี้ยังมีการส่งมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นและเงินบริจาคไปให้กับสหกรณ์ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้รับมอบหมายจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ในระยะยาว ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) จำนวน 300 ล้านบาทให้สหกรณ์กู้ยืมไปในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ที่ประสบปัญหาอุทกภัยได้นำไปฟื้นฟูอาชีพของตนเอง หลังจากสถานการณ์ดีขึ้นและปริมาณน้ำลดลงแล้ว โดยอาจนำไปลงทุนอาชีพระยะสั้น เช่น ปลูกผัก เพื่อช่วยให้ตนเองสามารถมีรายได้ ระหว่างการรอปรับสภาพพื้นที่การเกษตรให้พร้อมที่จะประกอบอาชีพหลักซึ่งขณะนี้มีวงเงินพร้อมให้กู้แล้วขณะนี้จำนวน 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังได้จัดสรรงบประมาณอีก 5 ล้านบาท
สำหรับตั้งหน่วยบริการเคลื่อนที่ ส่งเจ้าหน้าที่มาเปิดจุดให้บริการซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร และอุปกรณ์อื่นๆ แก่สมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งจะประสานขอความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคในพื้นที่ เพื่อเข้ามาอบรมซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งทางกรมฯ เคยดำเนินการสำเร็จจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคใต้มาแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา
ส่วนหนี้สินที่สมาชิกสหกรณ์มีอยู่กับสหกรณ์นั้น ทางกรมฯ จะขอความร่วมมือจากสหกรณ์ที่มีสมาชิกประสบอุทกภัย พิจารณาลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือในยามที่สมาชิกสหกรณ์ขาดรายได้เนื่องจากพื้นที่ประกอบอาชีพการเกษตรเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งอาจจะลดดอกเบี้ยลง 0.5-1% เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน เพื่อให้สมาชิกสามารถยังชีพอยู่ได้ในระยะหนึ่งจนกว่าจะกลับคืนสู่สภาพปกติ สามารถประกอบอาชีพจนมีรายได้นำมาชดใช้หนี้สินคืนสหกรณ์ได้เหมือนเดิม ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือที่สหกรณ์สามารถทำได้โดยตรงกับสมาชิกของสหกรณ์เอง
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการในการช่วยเหลือด้านหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ที่ไม่สามารถส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์ได้ โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาพักชำระหนี้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยรัฐบาลจะจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้สหกรณ์แทนสมาชิก ส่วนหนี้สินของสหกรณ์ที่มีอยู่กับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ก็ดำเนินการได้ทันทีตามระเบียบกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ที่กำหนดไว้ คือ กรณีสหกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยหากมีความจำเป็น ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป 1 ปีด้วยเช่นกัน