KSL มองรัฐลอยตัวน้ำตาลไม่ส่งผลราคาสูงขึ้น แต่อาจทำ รง.ขนาดเล็กล่มสลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 8, 2017 10:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายจะลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศให้เป็นไปการเปิดเสรีธุรกิจน้ำตาลภายในปีนี้นั้น เชื่อว่าราคาน้ำตาลในประเทศจะไม่สูงกว่าในปัจจุบันและจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลน แต่มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลรายเล็กอาจจะล่มสลายลงเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ หากไม่มีการกำหนดโควตา ก.ซึ่งเป็นการขายน้ำตาลภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตารางเวลาในการลอยตัวราคาน้ำตาลนั้นยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้

ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดรวมประมาณกว่า 60% ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มโรงน้ำตาลเดี่ยว ๆ มีประมาณ 30% โดยรายใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มมิตรผล ส่วนแบ่งตลาด 18-20% ,ไทยรุ่งเรือง 16-18% , กลุ่มบมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) 9% ,KSL 8% ,วังขนาย 6-7% และกลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด 5-6%

"ระบบเก่าเกื้อหนุนให้โรงงานเล็ก โรงงานใหญ่อยู่กันได้โดยมีกติกากลาง จัดสรร แต่ถ้าเสรีหมดทุกอย่างเชื่อว่าโรงงานเล็ก ๆ จะลำบาก วันนี้เดินไปตลาด น้ำตาลก็มีหลายยี่ห้อที่คนเริ่มคุ้นเคยแล้ว โรงเล็ก ๆ จะมาทำถุงกิโลฯขาย ตรานกแก้วใครจะซื้อ ความสามารถการแข่งขันต่างกันเยอะ แต่ระบบเก่าจัดสัดส่วนให้ขาย โรงเล็กขายไม่เก่ง ก็ขายได้ แต่ถ้าไม่มีอะไรเลย แล้วโรงเล็กฝันว่าจะขายเก่งกว่าโรงใหญ่ผมไม่เชื่อ"นายชลัช กล่าว

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยเป็นระบบโควตา โดย โควตา ก.จำหน่ายเพื่อการบริโภคในประเทศ โดยปกติอยู่ที่ราว 2.5-2.6 ล้านตัน/ปี ส่วนโควตา ข. และโควตา ค. เป็นการส่งออกน้ำตาลผ่าน บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) และโรงงานน้ำตาล ตามลำดับ ขณะที่การกำหนดราคาอ้อยที่ชาวไร่จะได้รับถูกจัดสรรในรูปแบบระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70:30 จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายและผลพลอยได้

ทั้งนี้ ในฤดูการผลิตปี 59/60 มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบ 92.95 ล้านตันอ้อย แต่สามารถผลิตน้ำตาลได้มากขึ้นเป็น 10.03 ล้านตัน เนื่องจากคุณภาพอ้อยดีขึ้น

ล่าสุด รัฐบาลอยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรม และลดข้อพิพาทจากทางประเทศบราซิล หลังกล่าวหาว่าไทยมีการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายและอุดหนุนราคาภายในประเทศ ทำให้โครงสร้างราคาบิดเบือน

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย ได้แก่ การลดบทบาทการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย การยกเลิกระบบโควตาเพื่อนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามกลไกตลาด การยกเลิกการอุดหนุน 160 บาทให้แก่ผู้เพาะปลูกอ้อย และการเพิ่มนิยามความหมายของ อ้อยให้สามารถนำไปทำสินค้าประเภทอื่นได้ เป็นต้น โดยรัฐบาลคาดหวังจะให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ธ.ค.60 ซึ่งเป็นช่วงฤดูการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 60/61

นายชลัช กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นตารางเวลาที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่จะเกิดขึ้น แต่เบื้องต้นเห็นว่าในช่วงเปลี่ยนถ่ายของการลอยตัวสินค้า เข้าใจว่าราคาน้ำตาลคงจะยืนอยู่ระดับเดิมหรือปรับลดลงมากกว่าปรับตัวขึ้น ขณะที่ในด้านปริมาณการจำหน่ายก็ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการเปิดเสรีทั้งหมด โดยไม่มีโควตา ก.เหมือนเช่นเดิมหรือไม่

"ปีนี้ ปีหน้าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ระบบใหม่ที่อยากจะมีการปรับปรุงตรงนี้ คือการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมว่าเราจะโตต่อ หรือเปลี่ยนจากผู้ผลิตเป็นผู้นำเข้ามาทาน คือถ้าปรับไม่ดีอนาคตล่มสลายก็เลิก ซื้อมากินทดแทน...ช่วงที่ลอย ราคาไม่แพงกว่าเดิม แต่จะลงเท่าไหร่ไม่แน่ใจอยู่ที่สูตรการคำนวณราคาอ้อยว่าไปผูกสูตรอย่างไร สิ่งที่น่าจะเห็นชัด คือตัวผลิตภัณฑ์บรรจุขนาดใหญ่น่าจะลงมากกว่าขนาดเล็ก หมายถึง 50 กิโลกรัมที่ขายอุตสาหกรรม ราคาอาจจะลดลง แต่ตัวถุงกิโลกรัมอาจจะไม่ลงเลย เป็นเรื่องมาร์เก็ตติ้งล้วน ๆ ลดแลกแจกแถม เหตุผลเพราะว่าในอดีตมีการผูกราคาเอาไว้ ทำให้ต้นทุนของถุงกิโลกรัมแทบไม่มีมาร์จิ้น ตัวถุงกิโลกรัมน่าจะกลับเข้าสู่กลไกตลาดอาจจะทำให้ราคาคง ๆ ถึงแพงขึ้น"นายชลัช กล่าว