นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ "ถอดสูท ถกเศรษฐกิจ"ว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ Emerging Market เป็นผลจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขยาก และเป็นปัญหาที่น่ากังวลมาก
โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5% มาจากปัจจัยหลักๆ คือ 1.แข็งนอกอ่อนใน กล่าวคือ ภาคส่งออกดีขึ้นจากเศรษฐกิจต่างประเทศฟื้นตัว และภาคการท่องเที่ยวเช่นกันที่เป็นผลจากต่างประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศมากขึ้น 2. แข็งบนอ่อนล่าง กล่าวคือ บริษัทขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีกำไรสุทธิรวมกันราว 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของ GDP และไตรมาส 1/60 เติบโต 21% ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศปีนี้โตได้ 3.5% ซึ่งจะให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการศึกษา, ปัญหาประชากร โดยคนรุ่นใหม่จะไม่เข้ามาในภาคเกษตร จึงทำให้เกษตรกรมีอายุเฉลี่ย 55 ปี, การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ระบบราชการไทยไม่ได้มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่กลับมีจำนวนข้าราชการเพิ่มขึ้น
"เศรษฐกิจโต 3.5% แล้วไง วิกฤตเศรษฐกิจกับเราไม่เกิดหรอก เพราะหนี้สาธารณะเรายังดี สถาบันการเงินก็ยังแข็งแรง เราไม่เจอต้มยำกุ้ง แต่เราจะเจอต้มกบ ที่เป็นห่วงไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ" นายบรรยงกล่าว
พร้อมระบุว่า การวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ควรจะทำแบบยืดหยุ่นและรอบคอบในการลงทุนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีงบลงทุนสูง 2.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของ GDP
นายบรรยง กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.... จะทำให้ใช้ทรัพยากรของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ 15 ล้านล้านบาท ให้เกิดประสิทธิภาพและอย่างโปร่งใส
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างช้า แต่ในช่วง 3 ปีหลังนี้การเติบโตเป็นที่น่าพอใจ หลังจากรัฐบาลปัจจุบันจะเข้ามา โดย GDP เริ่มดีขึ้นเป็น 2.9% ในปี 58, ส่วนในปี 59 เติบโตได้ 3.2% และล่าสุดในไตรมาส 1/60 โต 3.3% โดยเป็นการเติบโตจากการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาคเกษตรที่ติดลบเพราะประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งปีนี้คาดว่าภาคเกษตรจะดีขึ้น เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัว
นอกจากนี้ ยอมรับว่าโครงสร้างเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยที่ฉุดภาพรวม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการผลักดันอุตสาหกรรม S-Curve มีการใช้ e-Payment และผลักให้ดันเกิดธุรกิจ Startup ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้วางยุทธศาสตร์ 20 ปี จากเดิมที่ทำแผนพัฒนาเพียง 5 ปี เพื่อให้รู้เป้าหมายและทิศทางของประเทศในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น