นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวในงานสัมมนา"อนาคตยางพาราไทยโอกาสและความท้าทาย" ว่า ขณะนี้มีสัญญาณในเชิงบวกว่ายางมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่นๆ โดย ณ วันนี้ราคายางแผ่นรมควัน RSS3 ที่ตลาดกลางนครศรีธรรมราชอยู่ที่ 57.80 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 1.39 บาท/กก.
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ต้นทุนของผู้ปลูกอยู่ประมาณ 50 บาทต้นๆ เมื่อบวกมาร์จิ้นประมาณ 20% ตามระดับปกติของสินค้าเกษตร เกษตรกรจึงจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้นราคายางก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 60 บาทขึ้นไป
ขณะที่สต็อกยางที่เมืองชิงเต่า ประเทศจีนซึ่งมี Effect มากที่สุดลดลงจาก 278,800 ตันในเดือนมิ.ย.60 ขณะนี้มาอยู่ที่ 258,900 ตัน ลดลงมา 19,900 ตัน และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนก.ค.60 สต็อกยางที่เมืองชิงเต่าจะลดลงเหลือ 204,000 ตัน แปลว่าถึงเวลาที่จีนจะต้องทำการซื้อยางแล้ว ซึ่งจะทำให้ราคายางมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้น
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ขณะนี้ทั้ง 3 ประเทศผู้ส่งออกยางคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มั่นใจว่าแนวโน้มราคากำลังจะเป็นบวก จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ละประเทศเข้าไปบริหารจัดการซัพพลายของตัวเอง
นายธีธัช กล่าวต่อว่า ขณะนี้ภาครัฐได้เข้ามาซื้อขายยางในตลาด TFEX แล้วในนามของบริษัทร่วมทุนยางพารา โดยใช้เงินจากกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางพาราวงเงิน 1,200 ล้านบาท ซึ่งมาจากบริษัทผู้ส่งออกยางร่วมกันลงขันคนละ 200 ล้านบาท เข้าซื้อขายยางในตลาดซื้อขายยางพารา ทั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้าและตลาดซื้อขายยางจริง
"การร่วมมือกันเพื่อให้เกิดแรงซื้อให้มากขึ้น...นอกจากนี้รัฐบาลยังอัดฉีดเงินให้หน่วยภาครัฐนำยางพาราไปใช้ภายใน เท่ากับตอนนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันซื้อยาง และยังมีโอกาสที่จะเข้าซื้ออีกมาก เนื่องจากต้นทุนยังอยู่ในระดับต่ำ"
ขณะที่ได้มีการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (2560-2579) โดยวิสัยทัศน์ในปี 2570 ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์ยางพาราอันดับ 1 ของโลก ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ด้านนายหลักชัย กิตติพล ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา มองว่า ราคายางผ่านช่วงยากลำบากไปแล้ว แต่ยังมีการบ้านที่ผู้ว่าการยางฯ และรัฐบาลไทยต้องทำ คือ การบริหารจัดการ
"นโยบายต่างๆ ทำจริงหรือไม่ บางอย่างคงมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ต้องจัดการ เช่น ภาครัฐบอกว่าจะทำถนนก็ต้องทำจริงๆ จะทำรถไฟความเร็วสูง ถ้านำยางธรรมชาติซึ่งเก็บเสียงได้ดีไปใส่ในรางรถไฟ หรือรัฐบาลจะส่งเสริมสินค้าที่เป็น High Tecnnology ป้องกันแผ่นดินไหวก็ต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ออกแบบตึกที่รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวก็ต้องทำ ทำเขื่อน และอีกมากที่สามารถนำยางมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ต้องทำจริงๆ"
ส่วนนโยบายโค่นต้นยาง ต้องรอบคอบ ทำในพื้นที่ที่เหมาะสม และต้องเป็นต้นยางอายุเกิน 25 ปีขึ้นไปเท่านั้น
"ปลูกยาง 7 ปีกว่าจะกรีดได้ แต่โค่นยางแค่ 1 นาทีก็หายไปเลย ต้องรอบคอบ"นายหลักชัย กล่าว
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรองประธานกรรมการ TFEX เปิดเผยว่า ยางพาราถือเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจของคนไทยได้อย่างหนึ่ง หากจะทำให้ราคายางพาราสามารถเป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง ซึ่งราคาสินค้า หรือ ราคาตลาดที่คนจะดูได้ต้องเป็นราคาที่อยู่ในตลาดที่มีสภาพคล่องสูง ขณะที่ตลาด TFEX ปัจจุบันสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้นเป็นเลข 3 หลักแล้ว แต่เชื่อว่าผู้บริหาร TFEX คงอยากเห็น 4 หลัก เพราะการใช้งานตลาด TFEX จะสะท้อนกลับไปที่ตลาด Spot และจะทำให้ผู้ที่นำราคายางไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนปลูก การวางแผนค้าขายในตลาด Spot สามารถใช้ราคาในตลาด TFEX ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ขอให้เชื่อมั่นว่าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในตลาด TFEX มีนโยบายสนับสนุนให้ตลาด TFEX ทำงานและทำให้ยางพาราล่วงหน้าให้มีความเติบโตและสามารถพัฒนาได้ สิ่งที่เราหวังและอยากเห็น ราคายางพาราล่วงหน้าจะสามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัดให้เกษตรกรไทยได้ และสำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆที่จะมาซื้อขายในตลาด TFEX ในอนาคตนั้น ตลาดหลักทรัพย์เรามีนโยบายจะสนับสนุนอย่างยิ่ง" นางเกศรา กล่าว