นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน วงเงินโครงการ 7,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ/หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจแฟรนไชส์ ตลอดจนผู้ประกอบการในชุมชนและภูมิภาคที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินกิจการ รวมทั้งเสริมสภาพคล่องในการต่อยอดกิจการ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท หากเป็นบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยวงเงิน 5 ล้านบาทแรกไม่ต้องใช้หลักประกัน สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันโดยจะได้รับการชดเชยค่าธรรมเนียม บสย. ใน 4 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมรวม 7 ปี กรณีใช้หลักประกันตามเกณฑ์ธนาคาร คิดอัตราดอกเบี้ย ดังนี้ ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.5 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.0 ต่อปี กรณีใช้หลักประกัน บสย. คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ลูกค้าจะได้รับการช่วยเหลือฟรีค่าธรรมเนียม บสย. เป็นเวลา 4 ปี ปีละ 1.75% รวม 7% (รัฐบาลช่วยเหลือ 4% และอีก 3% เป็นการช่วยเหลือจาก ธพว.) ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ชำระหนี้ปกติตามเกณฑ์ของ ธพว.หรือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสงค์จะยื่นกู้เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเดิมหรือผู้ประกอบการรายใหม่ก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ลูกหนี้โอนหนี้ (Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น
สำหรับโครงการสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวฯ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ธพว.เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ให้ผู้ประกอบการต่อยอดธุรกิจเข้ากับแหล่งท่องเที่ยว ทั้งโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ครอบคลุมธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ตลาดต้องชม ธุรกิจที่พัก-โรงแรม สถานบริการ สถานตากอากาศ ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึกหรือธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบ เป็นการสนับสนุนนโยบาย Local Economy ของรัฐบาลในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร อาทิ ร้านหนูณิชย์ติดดาว รถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ (food truck) รวมถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้ ที่สามารถใช้วงเงินเพื่อรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร เก็บสต็อกสินค้าได้นานถึง 9 เดือน ตลอดจนธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถกู้ได้สูงสุดถึง 100% ของมูลค่าแฟรนไชส์ เนื่องจากข้อมูลพบว่า ธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อดังกล่าวจะเข้าไปดูแลเอสเอ็มอีกลุ่มนี้
"โครงการสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชนฯ ครั้งนี้มีผลต่อเศรษฐกิจทางตรง คือ ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 7,500 ล้านบาท ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน 2,500 ราย (วงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 3 ล้านบาท) สามารถรักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 10,000 คน สร้างเงินทุนหมุนเวียนให้ระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 34,350 ล้านบาท ดังนั้นการสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจ SMEs จะทำให้การท่องเที่ยวกระจายไปสู่หัวเมืองรอง สอดคล้องกับประมาณการยอดนักท่องเที่ยวปี 2560 ที่คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 35 ล้านคน การพัฒนาชุมชน การบริการ ตลอดจนการผลิตสินค้าโดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อนี้จะช่วยให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา สอดคล้องกับนโยบาย Local Economy ของรัฐบาลในจังหวัดต่างๆ ให้เตรียมพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 ต่อไป"นายมงคล กล่าว