น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 60 ว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.3% สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องมากขึ้น โดยสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ยังกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจบางประเภท
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังมีการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากรวมสินเชื่อและการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ จะขยายตัวที่ 5.2% ส่วนคุณภาพสินเชื่อด้อยลงจากลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่บางราย ขณะที่กำไรสุทธิลดลงจากค่าใช้จ่ายการกันสำรองที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความมั่นคง มีเงินสำรองและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ และสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย
สำหรับสินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วน 67.5% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 2.7% เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นสำคัญ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7% จากภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจในบางภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก (เช่น อิเล็กทรอนิกส์) ก่อสร้างถนน และภาคบริการ สำหรับสินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปีก่อน มาอยู่ที่ 3.2% จากธุรกิจที่พักแรม และอาคารสำนักงานเป็นสำคัญ
สินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วน 32.5% ของสินเชื่อรวม) ในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวที่ 4.4% โดยขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องในพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ หลังจากสิ้นสุดเงื่อนไขระยะเวลา 5 ปี ในการถือครองรถยนต์ตามมาตรการรถยนต์คันแรก ขณะที่พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยและบัตรเครดิตขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง
น.ส.ดารณี กล่าวว่า สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยลงจากลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่บางรายเป็นสำคัญ ขณะที่มีการตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้นมาก ทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.95% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.94% สำหรับ NPL ที่เพิ่มขึ้น มาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคเหมืองแร่ และบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้ง NPL ของสินเชื่อธุรกิจ SME ขนาดเล็กยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในภาคพาณิชย์ และบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่นกัน
ขณะที่ NPL ของสินเชื่อธุรกิจ SME ในภาพรวมเริ่มปรับลดลงจากธุรกิจขนาดกลาง ในส่วนของคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคปรับดีขึ้นในสินเชื่อทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ สำหรับสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.54% ส่วนหนึ่งจากการไหลไปเป็น NPL อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ ทำให้เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 561 พันล้านบาท โดยสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ที่ 160.7%
ในไตรมาส 2 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 49 พันล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนจากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.10% จากไตรมาสก่อนที่ 1.16% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ค่อนข้างทรงตัวที่ 2.62% จากการบริหารด้านหนี้สินเป็นสำคัญ
ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2,369 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรและออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Tier 2) โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 17.9% และ 15.2% ตามลำดับ
"ภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อในปี 2560 จะขยายตัวได้ในช่วง 4-6% ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคในภาพรวมค่อนข้างทรงตัว"น.ส.ดารณี กล่าว
พร้อมระบุว่า ทิศทางของ NPL จะยังปรับเพิ่มขึ้นแต่เป็นในลักษณะชะลอตัว และคาดว่าจะไปสู่จุดสูงสุดได้ในช่วงไตรมาส 4/60 หากเศรษฐกิจในปี 60 สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ที่ 3.5% ก็จะเห็นแนวโน้ม NPL เริ่มลดลงในปี 61 เมื่อจำแนกการขยายตัวของ NPL จะพบว่า NPL สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.81% ส่วน NPL ของสินเชื่อธุรกิจ SME ลดลงเหลือ 4.42% ส่วน NPL ของบัตรเครดิตลดลงเหลือ 3.43% NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงเหลือ 3.06% NPL สินเชื่อส่วนบุคคล ลดลงเหลือ 2.60% และ NPL สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 1.66%
สำหรับกรณีน้ำท่วมในบางพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ไม่ได้คาดคิดนั้น ที่ผ่านมา ธปท.และธนาคารพาณิชย์ได้เร่งออกมาตรการเยียวยาเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้า โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง ธปท.อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ไม่นับหนี้เป็น NPL พร้อมยืนยันว่า กระบวนการดังกล่าวไม่ใช่การซ่อนตัวเลข แต่เป็นปัจจัยชั่วคราวที่ต้องให้ความช่วยเหลือ