โดยดัชนีความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเดือนก.ค.60 ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า มาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า รวมถึงประเด็นเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำให้ครัวเรือนที่ประกอบกิจการส่วนตัวพยายามที่จะปรับตัวทางธุรกิจ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจส่งผลให้กระบวนการผลิตหยุดชะงักไปในบางธุรกิจ และส่งผลต่อรายได้ที่เข้ามา
ประกอบกับครัวเรือนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องหนี้สิน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานในเดือนก่อน ประกอบกับครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ไปสมัครเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ (ผ่านเกณฑ์ราว 300 คนจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 1.8 หมื่นคน)
นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในปัจจุบันที่ปรับตัวลดลง ยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพในอนาคตเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นในเรื่องหนี้สินและสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาสินค้าสาธารณูปโภค อาทิ ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่ปรับขึ้นจาก 3.5079 มาเป็น 3.5966 บาท จากการปรับขึ้นค่าไฟอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) อีก 8.87 สตางค์ในรอบเดือนก.ย. – ธ.ค.60 เนื่องจากครัวเรือนที่ทำการสำรวจไม่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี) ที่จะได้รับผลดีจากมาตรการของรัฐ (ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า-ค่าโดยสารสาธารณะฟรี) ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.60
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ความเชื่อมั่นของครัวเรือนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในอนาคตปรับตัวลดลงจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สินและสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า เพิ่มเติมจากภาวะปัจจุบันที่ครัวเรือนมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ รวมถึงประเด็นเรื่องภาระหนี้สินอยู่แล้ว
"ความเชื่อมั่นของครัวเรือนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในระยะข้างหน้า จะยังได้รับแรงกดดันทางอ้อมจากการชะลอตัวของรายได้ครัวเรือนเกษตร ซึ่งจะส่งผลลบต่อเนื่องไปยังการหมุนเวียนและกระจายรายได้สู่ภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ รายได้ร้านค้าปลีกที่ลดลงอาจนำมาสู่การจ้างงานที่ลดลงตามไปด้วย" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ