นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการเข้าประชุมคณะทำงานความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือกลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 1 เมื่อปลายเดือน ก.ค.60 ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ ฝ่ายไทยร่วมกับสมาชิกประเทศแม่โขง-ล้านช้าง อีก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน นับเป็นก้าวแรกของการเดินหน้าผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ MLC
การประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้หารือแนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันโดยผ่านกิจกรรม เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของประเทศสมาชิก การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุนในเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างสมาชิกที่มีพรมแดนติดกัน โดยการจัดตั้งศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น การตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสนับสนุนการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคผ่านการยกระดับความตกลงอาเซียน-จีน และเร่งหาข้อสรุปการเจรจา RCEP
การประชุมคณะทำงานความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนของกลุ่ม MLC ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้นำประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง พบกันครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ณ เมืองซานย่า สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้มีการประกาศจัดตั้งคณะทำงานขึ้น 6 ด้าน ได้แก่ 1) คณะทำงานด้านความเชื่อมโยง 2) คณะทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพในการผลิต 3) คณะทำงานด้านความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน 4) คณะทำงานด้านความร่วมมือทรัพยากรน้ำ 5) คณะทำงานด้านการเกษตร และ 6) คณะทำงานด้านการลดความยากจน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบให้เป็นหน่วยงานหลักของคณะทำงานด้านความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนฝ่ายไทย ทั้งนี้ คณะทำงานด้านความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนของ MLC จะมีการประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยสมาชิกผลัดกันเป็นเจ้าภาพ และการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2561 ที่กัมพูชา
ในปี 2559 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิก MLC มีมูลค่ากว่า 187 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเวียดนามมีมูลค่าการค้ากับจีนมากที่สุด (98.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะที่ไทยมีมูลค่ารองมา (66 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามด้วยเมียนมา สปป. ลาว และกัมพูชา ตามลำดับ ในด้านการลงทุน จีนเป็นนักลงทุนอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในไทย ในขณะที่จีนมีสัดส่วนการลงทุนส่วนใน สปป. ลาว เป็นอันดับ 1 โดยเป็นการลงทุนในการพัฒนาเส้นทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ One Belt, One Road ของจีน และจีนยังเป็นนักลงทุนลำดับ 1 ในเมียนมาโดยเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและท่าเรือน้ำลึก ซึ่ง MLC ตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 250 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563