พาณิชย์จับมือ SME BANK ให้สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday August 13, 2017 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK ในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้สนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้กิจการที่ได้ซื้อแฟรนไชส์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งแฟรนไชส์นับเป็นธุรกิจแรกที่จะใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558

โดยเบื้องต้น SME BANK จะกำหนดมาตรการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจลงทุนกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ และมีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยประเมินว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาท มักจะมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน และได้ดำเนินธุรกิจมาแล้วเป็นอย่างดี ทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมาก ขณะที่ธุรกิจแฟรนไชส์เองก็เป็นธุรกิจที่มีความสะดวกและง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง และที่สำคัญคือมีแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ ทั้งนี้ คาดว่าปีแรกนี้จะสามารถคัดเลือกแฟรนไชส์ที่จะให้สินเชื่อได้ราว 15 - 20 ราย

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากการให้สินเชื่อแล้ว SME BANK จะทำการติดตามประเมินผลและทำการวิเคราะห์เป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินตลอดระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นมาตรฐานสากล มีศักยภาพ และมีความเข้มแข็ง โดยการเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ทางธุรกิจ รวมทั้งช่วยขยายเครือข่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจให้ได้มีโอกาสพบปะกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อขยายธุรกิจ และนำไปสู่การสร้างรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีความมั่นคงพร้อมแข่งขันในระดับสากล ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อไปมีพี่เลี้ยงคอยดูแลในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

"สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ต่ำกว่า 1 ล้านบาท SME BANK จะดำเนินการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ในระยะถัดไป หลังจากที่ได้สรุปและประมวลผลการให้สินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะช่วยสร้างผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่แวดวงธุรกิจไทยมากขึ้น"นายสนธิรัตน์ กล่าว

อนึ่ง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.59 เป็นกฎหมายที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในการประกอบกิจการมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินและสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ ได้แก่ 1) กิจการ 2) สิทธิเรียกร้อง 3) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ผลิตสินค้า 4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง และ 5) ทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2560 มีธุรกิจเอสเอ็มอียื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวม 149,349 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 2,800,545 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็น 60.05% (มูลค่า 1,681,855 ล้านบาท) รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ คิดเป็น 19.53% (มูลค่า 546,995 ล้านบาท) และสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็น 17.20% (มูลค่า 481,611 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็น 0.07% (มูลค่า 1,975 ล้านบาท)

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหลักทรัพย์ที่เป็นกิจการยังไม่เคยมีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจเลย ดังนั้นหาก SME BANK ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธุรกิจแฟรนไชส์จะเป็นธุรกิจแรกที่ใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ