นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงประเด็นข้อสังเกตโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง มีแผนการเดินรถโดยให้รถไฟความเร็วสูงวิ่งจากสนามบินดอนเมือง ผ่านเข้าสถานีมักกะสัน ก่อนจะวิ่งต่อไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ตามลำดับ เอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินย่านมักกะสันในเชิงการค้าพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งเป็นที่ดินอันได้มาจากการเวนคืน เป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลักความเป็นธรรม
นายอานนท์ฯ กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน Airport Rail Link ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และก่อสร้างส่วนต่อขยายจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภาและ จ.ระยอง
ส่วนการเดินรถผ่านสถานีมักกะสัน ใช้โครงสร้างเดิมของ Airport Rail Link และใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ ที่มีอยู่จะทำให้ลดภาระค่าก่อสร้างลงได้อย่างมาก เพราะหากเปิดแนวเส้นทางใหม่จะส่งผลกระทบในหลายด้าน จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินในเขตใจกลางเมือง ทำให้ค่าก่อสร้างของโครงการสูงขึ้นมาก
นายอานนท์ กล่าวว่า ที่ดินบริเวณย่านมักกะสันอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท.โดยจะเปิดให้เอกชนเช่าใช้พื้นที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยจ่ายผลตอบแทนให้ รฟท.ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามศักยภาพของพื้นที่ โดยกรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของ รฟท.การมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่านที่ดินย่านมักกะสันจะส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่มีศักยภาพสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะเกื้อกูลให้ผลตอบแทนจากการร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีค่าสูงขึ้น ลดภาระค่าชดเชยโครงการของภาครัฐในอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ที่ดินบริเวณย่านมักกะสันที่ รฟท.ได้มาโดยพระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติพระราชกฤษฎีกา และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดินหลายบทบัญญัติ ซึ่ง รฟท.ได้เคยหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับประเด็นการนำที่ดินบริเวณโรงงานมักกะสันไปทำโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 1597/2559 เมื่อเดือน พ.ย.59 สรุปได้ว่าที่ดินที่ได้มาโดยบทบัญญัติดังกล่าว ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟที่จะใช้ตามวัตถุประสงค์ของกรมรถไฟได้ ต่อมาเมื่อที่ดินนั้นโอนมาเป็นของ รฟท.ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 รฟท.ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับกรมรถไฟ และสามารถนำที่ดินดังกล่าวมาดำเนินการใด ๆ ตามวัตถุประสงค์ของ รฟท.ได้
นายอานนท์ กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในการจัดหาที่ดินมาให้กรมรถไฟนั้น เป็นเพียงวัตถุประสงค์เบื้องต้น เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไปหมดความจำเป็นที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์เดิม หรือมีความจำเป็นต้องนำที่ดินนั้นไปใช้ทำกิจการอื่นใด ก็ย่อมเป็นไปตามวิวัฒนาการขององค์กรที่เป็นเจ้าของที่ดิน หรือความจำเป็นของประเทศได้ ดังนั้น เมื่อ รฟท.มีอำนาจในการจัดการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ซึ่งรวมถึงการให้เช่าและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 การนำที่ดินบริเวณโรงงานมักกะสันไปทำโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์จึงสามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลักความเป็นธรรม