พาณิชย์จัดทำแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ 5 ปี ตั้งเป้าดันการค้าออนไลน์แตะ 5 ล้านลบ.ในปี 64

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 16, 2017 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติระยะ 5 ปี (ปี 60-64) หลังจากที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงเกษตรกร ผู้ค้าท้องถิ่น มาค้าขายสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ให้มากขึ้น โดยได้กำหนดเป้าหมายผลักดันมูลค่าการค้าออนไลน์ทุกรูปแบบ ทั้ง B2B (ธุรกิจสู่ธุรกิจ), B2C (ธุรกิจสู่ผู้บริโภค) และ B2G (ธุรกิจสู่รัฐบาล) ที่มีอยู่ 2.52 ล้านล้านบาทในปี 59 ให้เพิ่มเป็น 5 ล้านล้านบาทในปี 64 หรือเพิ่มขึ้น 100% เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 20% และเฉพาะการค้าแบบ B2C ตั้งเป้าเพิ่มจาก 475,000 ล้านบาท เป็น 900,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% เช่นเดียวกัน

"ปัจจุบัน มูลค่าการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซของไทย โดยเฉพาะรูปแบบ B2C มีมูลค่า 475,000 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าสูงที่สุดในอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของมูลค่าในอาเซียน และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งกระทรวงจะช่วยเหลือและผลักดันให้มีผู้ประกอบการที่ค้าขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะจากตัวเลขที่สำรวจได้ มีผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) แค่ 500,000 รายที่ค้าขายออนไลน์ จากทั้งหมดกว่า 2 ล้านราย ซึ่งยังสามารถเพิ่มจำนวนได้อีกมาก" รมว.พาณิชย์กล่าว

สำหรับแนวทางการทำงานภายใต้แผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.เสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ 2.เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำอีคอมเมิร์ซ และอำนวยความสะดวกทางการค้าสู่สากล 3.เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพปัจจัยสนับสนุน และ 4.สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ขาย

นางอภิรดี กล่าวว่า ในการพัฒนาผู้ประกอบการนั้น จะเร่งพัฒนาผู้ประกอบการในระดับฐานราก ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ค้าขายออนไลน์เป็น และพัฒนาผู้ประกอบการรายเดิมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และขยายถึงการส่งออก รวมถึงจะช่วยพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูด และรองรับการขนส่ง ส่วนการสร้างสภาพแวดล้อม จะเน้นการยกระดับการชำระเงินที่ปลอดภัย ช่องทางการชำระเงินให้สะดวกมากขึ้น ส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการชำระเงินใหม่ๆ เชื่อมต่อระบบการชำระเงินกับสากล ส่วนด้านโลจิสติกส์ จะส่งเสริมให้มีบรรจุภัณฑ์ที่รองรับการขนส่ง เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน จะสร้างหลักสูตรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ทันสมัย จัดทำคลังข้อมูลการชำระเงิน การขนส่ง แนวโน้มตลาด และส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผลักดันให้กองทุนหมู่บ้านประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จัดทำมาตรการจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาทำงานในสาขาที่ขาดแคลน ส่วนการพัฒนากลไกกำกับดูแลจะผลักดันให้มีการลงทะเบียนในช่องทางการซื้อขายออนไลน์ เพื่อให้ตรวจสอบความมีตัวตนได้ และเร่งสร้างกลไกคุ้มครองผู้บริโภค โดยการแก้ไขปัญหาจะต้องเน้นไปที่ความรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ