พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในพิธีลงเสาเข็มโครงการก่อสร้างทางเชื่อมทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ไปยังทางพิเศษศรีรัช (มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) ณ บริเวณพื้นที่ใต้ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ด้านทิศเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2
ประธานกรรมการ กทพ. กล่าวว่า บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะเป็นผู้ก่อสร้างทางเชื่อมดังกล่าว โดยในสัญญากำหนด ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน สามารถเปิดให้บริการต้นปี 62 ซึ่งได้เจรจากับ BEM ให้เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน12 เดือนหรือในเดือนส.ค. 61
"ส่วนตัวเห็นว่า รูปแบบการก่อสร้าง อาจจะใช้เวลา 9-10 เดือนได้ ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเดินทางไปยังแจ้งวัฒนะ และลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนกำแพงเพชร 2 โดยทางเชื่อมนี้ จะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม แต่อย่างใด"
ปัจจุบัน ปริมาณจราจรบนทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ เฉลี่ย 60,000 คัน/วัน คาดว่าเมื่อเปิดใช้ทางเชื่อมกับด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับ ทางด่วนขั้นที่ 2 แล้วเสร็จปริมาณจราจรจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คันต่อวัน
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ กทพ.ศึกษาออกแบบเพื่อก่อสร้างทางลงจากแจ้งวัฒนะของด่วนขั้นที่ 2 ในทิศทางขาเข้า เป็นทางยกระดับ พร้อมสะพานกลับรถบนแนวถนนกำแพงเพชร เชื่อมเข้าสู่ด่านเก็บผ่านทางด่วนศรีรัช-วงแหวน บริเวณด้านกำแพงเพชร2 เพื่อให้โครงข่ายทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯและทางด่วนศรีรัช(ทางด่วนขั้นที่ 2) เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์
ประธานกรรมการ กทพ. กล่าวถึงสัญญาสัมปทานทางด่วนศรีรัช หรือทางด่วนขั้นที่ 2 ที่ทำไว้กับ BEM จะสิ้นสุดสัญญาในเดือน ก.พ.63 ว่า ขณะนี้ กทพ.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ศึกษารายละเอียดตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 56 ซึ่งจะสรุปได้ในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทาง ซึ่งตามสัญญาได้เขียนว่าให้เจรจาโดยสุจริต ซึ่ง กทพ.จะรอผลศึกษามาประกอบแนวทางการเจรจาก่อน จากนั้นคาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จในช่วงเดือน เม.ย.-ส.ค.62 และเสนอ ครม.อนุมัติให้เรียบร้อยก่อนสัญญาครบกำหนด 6 เดือน
ด้านนายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฏหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำการแทนผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า หลังจาก กทพ.และ BEM ได้เปิดให้บริการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครเมื่อเดือน ส.ค.59 ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองมากขึ้น หากแต่ยังมีบางทิศทางที่ผู้ใช้ทางพิเศษยังไม่สามารถเดินทางเชื่อมต่อการเดินทางจากทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ไปสู่ทิศทางด้านเหนือของกรุงเทพมหานครไปยังถนนงามวงศ์วาน แจ้งวัฒนะ หรือเชื่อมต่อทางพิเศษอุดรรัถยาเพื่อมุ่งหน้าไปบางไทร บางปะอิน
กทพ. และ BEM จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางเชื่อมทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ไปยังทางพิเศษศรีรัช (มุ่งไปทางแจ้งวัฒนะ) โดยมีรูปแบบโครงการเป็นทางเชื่อมยกระดับขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 360 เมตร โดยมีการเชื่อมต่อกันบนทางยกระดับ พื้นที่ประมาณ 3,150 ตารางเมตร ก่อสร้างเสาโครงการในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีจุดเริ่มต้นทางเชื่อมแยกออกจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง เชื่อมต่อเข้ากับทางพิเศษศรีรัชบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ทางพิเศษที่มาจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ จะสามารถเข้าสู่ทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าไปยังถนนแจ้งวัฒนะได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาลงทางพิเศษตรงถนนกำแพงเพชรแล้วกลับขึ้นทางพิเศษใหม่อีกรอบ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน มูลค่าโครงการประมาณ 275 ล้านบาท
"การทางพิเศษฯ และ BEM หวังว่าโครงการก่อสร้างทางเชื่อมทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ไปยังทางพิเศษศรีรัช (มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และช่วยประหยัด เวลาและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทาง รวมถึงช่วยแก้ปัญหาจราจรในภาพรวมของระบบทางพิเศษ" นายสุทธิศักดิ์ กล่าว