พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังหารือร่วมกับนายสตีฟ เทรนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิยุติธรรมและสิ่งแวดล้อม (EJF) ในประเด็นการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการดำเนินงานด้านการประมงมีความคืบหน้าตามข้อเสนอแนะของ EJF ในหลายเรื่อง อาทิ 1.การแก้ไข พ.ร.ก.การประมง 2558 ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายหลัก วางระบบการควบคุมและบริหารจัดการประมงเพื่อต่อต้านการประมงไอยูยู และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และมีการปรับปรุง พ.ร.ก.ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.การเข้าเป็นภาคี เอฟ เอ โอ ความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) และล่าสุดได้เข้าเป็นภาคี UNFSA และ SIOFA 3.ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจัดตั้งหน่วยสืบสวนกลางด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง และลดขั้นตอนการสั่งการและการบังคับใช้กฎหมายให้รวดเร็วและคล่องตัวขึ้น 4.การลดขนาดกองเรือเพื่อรักษาทรัพยากร และ 5.การปรับปรุงและการติดตั้งระบบ VMS และฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น ระบบการเตือนอัตโนมัติ การวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงของเรือ การปรับปรุงและบูรณาการข้อมูล Fishing Info ให้เป็นปัจจุบัน โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับเรือและลูกเรือ โดยเป็นฐานข้อมูลรวม online ที่หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าได้ออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจเรือ เพื่อจัดทำเครื่องหมายแสดงหมายเลขประจำเรือ พ.ศ.2559 และมีผลบังคับใช้แล้ว โดยในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.60 กรมเจ้าท่า กรมประมง และศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ร่วมกันสำรวจและจัดทำหมายเลขทะเบียนเรือ โดยกลุ่มเรือเป้าหมายเป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาด 10 ตันกรอส และเรือขนถ่าย จำนวน 12,016 ลำ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 11,716 ลำ หรือ 97.5% อีกทั้งกรมประมง และ ศปมผ.ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลหมายเลขทะเบียนเรือ ให้เชื่อมโยงเข้ากับระบบการควบคุมเรือของกรมเจ้าท่า และเชื่อมต่อไปยังระบบ MCS ของ ศปมผ.และกรมประมงแล้ว
อีกทั้งยังได้เสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อป้องกันการทำประมงไอยูยู และส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืน โดยไทยผลักดันให้มีการจัดทำนโยบายประมงอาเซียนในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ครั้งที่ 39 ณ จ.เชียงใหม่ ปลายเดือน ก.ย.60 ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเสนอเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในระดับนานาชาติ พร้อมเชิญ EJF ร่วมจัดในเดือน มี.ค.61 รวมทั้งเชิญกลุ่มอียูและประเทศผู้ผลิตสินค้าประมงรายใหญ่ระดับโลกเข้าร่วมด้วย
พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าวว่า สำหรับผลการตรวจประเมินศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ซึ่งมีผู้แทน EJF ร่วมลงพื้นที่ตรวจด้วยนั้น ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ PIPO โดยให้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูล VMS และเพิ่มบุคลากรให้เหมาะสมกับปริมาณเรือเข้า-ออกของแต่ละศูนย์ พร้อมจัดตั้งจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้า (FIPs) และกำหนดขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะการตรวจเรือกลุ่มเสี่ยง ได้เพิ่มศูนย์ PIPO 32 แห่ง และตั้งศูนย์ FIP อีก 19 แห่ง ในจังหวัดชายทะเลทั่วประเทศไทย และที่สำคัญคือ การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวกับการทำประมงอย่างเข้มงวดและจริงจัง โดยปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ดำเนินคดีไปแล้ว ประกอบด้วย เรือประมงในน่านน้ำ 971 คดี เรือประมงนอกน่านน้ำ 91 คดี เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 85 คดี และการลงโทษผู้กระทำผิดตามข้อเสนอของ EJF รวมถึงการปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ และแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรการทางปกครองเพื่อให้การพิจารณาคดี และการบังคับมาตรการปกครองมีความคล่องตัวมากขึ้น