นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันนี้จะหารือกับนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และเตรียมหารือกับภาคเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หลังจากกังวลว่าภาวะเงินบาทแข็งค่าอาจจะกระทบกับรายได้จากการท่องเที่ยว
"มาตรการลดหย่อนภาษี ยังไม่มีข้อสรุป เดี๋ยวบ่ายนี้จะมีการหารือระดับนโยบายกับผู้ว่า ททท. และผู้บริหารกระทรวง...ที่มีออกมาเป็นข้อสรุปที่ ททท.หารือกับภาคเอกชน ...บ่ายนี้ขอฟังเหตุผลให้ชัดเจนก่อน แต่คาดว่าวันนี้น่าจะได้ข้อสรุปในหลักการ ว่าจำเป็นแค่ไหน เผื่อจะรายงาน ครม.สัญจรได้ทัน"
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ขณะนี้ได้จับตาสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่านานเกินไปอาจต้องมีการหารือร่วมกับภาคเอกชน เช่น สมาคมท่องเที่ยวต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฯลฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาทางรับมือ
"ตอนนี้ยังไม่กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว แต่อาจจะกระทบเม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวบ้าง...เพราะนักท่องเที่ยวอาจจะใช้จ่ายในเรทค่าเงินประเทศตัวเองเท่าเดิม แต่เมื่อแปลงเป็นเงินบาทอาจจะน้อยลง...ซึ่งเราจะจับตาใกล้ชิดและถ้าแข็งค่านานเกินไปอาจต้องหารือภาคเอกชนว่าผลกระทบเป็นยังไง เพราะยังไม่ได้ยินภาคเอกชนบ่น...แต่ก็จะประเมินเรื่อยๆ"นายพงษ์ภาณุ กล่าว
ส่วนสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวประเทศไทย น่าจะกระทบการท่องเที่ยวเกาหลีไปจีน หรือจีนไปเกาหลีมากกว่า
ด้านน.ส.วาริธร ศิริสัตยะวงศ์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าประมาณ 7% ไม่อยากให้กังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมากจนเกินไป เพราะหากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 60 ไปจนถึงต้นปี 61 ยังเอื้อต่อการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ
"แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่เราต้องดูหลายปัจจัยและเทียบกับแต่ละประเทศในแต่ละภูมิภาคด้วย และการตัดสินใจท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไม่ได้สนใจเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสักเท่าไหร่นัก แต่จะพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆในภาพรวมมากกว่า เช่น เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆเป็นอย่างไร อ่อนแอหรือมีปัญหาหรือไม่ ถ้าประเทศนั้นๆ เศรษฐกิจมีปัญหา การตัดสินใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มระดับกลางลงมาอาจจะมีผลเรื่องการวางแผนการเดินทาง เลือกมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังโชคดีที่ที่พักมีหลายราคา และอัตราการจองห้องพักล่วงหน้าก็ยังเติบโต เพราะนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่น และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว มีสนามบิน มีระบบคมนาคมอำนวยความสะดวก เพราะฉะนั้นบาทแข็งค่าอาจจะไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวมากนัก"
ขณะที่นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า เงินบาทหากแข็งค่าไม่เกิน 10% จะไม่กระทบ ซึ่งตอนนี้แข็งค่ามาราว 7% จึงยังไม่มีผลกระทบ