นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก รายงานแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคชาวรัสเซียในปี 59 ว่า ผู้บริโภคชาวรัสเซียหันมาพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังมีความใส่ใจในสุขภาพ โดยบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล เกลือ และสารสังเคราะห์ปรุงแต่งน้อยลง
"ผู้บริโภคชาวรัสเซียพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปร้อยละ 28 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในปีก่อนหน้า เนื่องจากสะดวก ประหยัดเวลา และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนทำงาน อีกทั้งความตระหนักด้านสุขภาพมีผลกับอุปนิสัยการรับประทานของชาวรัสเซียที่เปลี่ยนไป" นางมาลี กล่าว
ผลการสำรวจในปี 59 ยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคชาวรัสเซียร้อยละ 27 ของผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยหรือปราศจากน้ำตาล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22 ในปีก่อนหน้า, ร้อยละ 17 ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือน้อยหรือปราศจากเกลือ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในปีก่อนหน้า และร้อยละ 57 ต้องการอาหารที่มีส่วนผสมสารสังเคราะห์น้อยหรือไม่มีเลย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49 ในปีก่อนหน้า)
ด้าน นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก กล่าวว่า หากสามารถรับค่าใช้จ่ายได้ ผู้บริโภคชาวรัสเซียจำนวนมากเลือกออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่เนื่องจากทุกวันนี้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีโอกาสรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง จากการสำรวจโดยนิตยสารโฮเรก้า (Horeca) ร้อยละ 46 ของชาวรัสเซียนิยมร้านอาหารลักษณะให้บริการชา กาแฟ ของว่าง และอาหาร (Coffee & Tea Rooms) ร้อยละ 43 นิยมร้านอาหารประเภทสั่งซื้อเพื่อนำกลับไปรับประทาน ร้อยละ 29 นิยมภัตตาคารแบบดั้งเดิม (Full Service) ร้อยละ 26 นิยมร้านอาหารจานด่วน (Fast Food) และร้อยละ 24 นิยมร้านพิซซ่า ทั้งนี้การเลือกร้านอาหารขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคามากที่สุด รองลงมาได้แก่ ปัจจัยด้านทำเล รสชาติอาหาร การให้บริการ รวมถึงการทดลองร้านอาหารเปิดใหม่ตามที่ได้รับการแนะนำ
ผู้เชี่ยวชาญของวงการร้านอาหารรัสเซียให้ความเห็นว่า การให้บริการจัดส่งอาหารไปยังบ้านพักหรือที่ทำงานมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชีวิตคนทำงานในเมืองที่ต้องรับประทานอาหารกลางวันอย่างเร่งด่วน ซึ่งบริการจัดส่งนี้ตอบโจทย์เรื่องประหยัดเวลาได้มาก ส่วนการสั่งซื้อเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้านก็เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลคล้ายกัน
สำหรับมูลค่าการค้าไทย-รัสเซียและกลุ่มซีไอเอสนั้น การส่งออกครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.60) มีมูลค่า 528 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 55.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ขณะที่การนำเข้ามูลค่า 1,374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.64 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น