นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ผ่านมาค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเกือบ 8% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นค่าเงินที่มีอัตราการปรับแข็งค่ามากที่สุดสกุลหนึ่งของโลก สวนทางกับการประเมินของนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักที่คาดว่าค่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงในปีนี้
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ประเมินว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาน่าจะทยอยอ่อนกำลังลง และเงินบาทน่าจะกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าสิ้นปี 2560 ค่าเงินบาทจะแตะ 35.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจัย 3 ประการ คือ ประการแรก ความคืบหน้าในการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐ กลับมาแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์จะกลับมาอยู่ในความสนใจของตลาดอีกครั้งในช่วงเดือนต.ค. เนื่องจากร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีจะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาของสภา
“เราประเมินว่ากฎหมายปฏิรูปภาษีน่าจะได้รับเสียงสนับสนุนและผ่านสภาได้ง่ายกว่ากฎหมายประกันสุขภาพ เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจากภาคธุรกิจและประชาชนในวงกว้าง ซึ่งความคืบหน้าของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีดังกล่าวน่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4"นายคมศร กล่าว
นายคมศร กล่าวอีกว่า สำหรับประการที่สอง ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเพิ่มขึ้นตามการส่งออกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดในช่วงครึ่งปีแรก เป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทแข็งค่า อาจมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งปีหลังตามการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะเริ่มต้นขึ้น
ประการสุดท้าย กระแสเงินทุนต่างประเทศ (Fund Flow) ของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยเป็นจำนวนกว่า 2 แสนล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2560 อาจมีความเสี่ยงที่จะไหลกลับตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางหลักของโลก ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งคาดว่าเฟดจะประกาศลดขนาดงบดุลในเดือน ก.ย. นี้ และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่คาดว่าจะประกาศลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงในเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ 2 ธนาคารกลางหลักอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดโลก จุดชนวนให้เกิดเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่