ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการที่ตัวเลข GDP ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวดีกว่าที่คาด มีโอกาสส่งผลให้ GDP ตลอดทั้งปี 2560 ขยับเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการ (3.0-3.6%) แต่เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการส่งออกที่ได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่อาจจะเป็นแรงกดดันกำลังซื้อเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิรกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 GDP ไว้ที่ 3.4% เพื่อประเมินผลกระทบจากประเด็นความท้าทายทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
"เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 โตกว่าที่ตลาดคาดจาก GDP ในไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 3.7% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.2% โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกและการใช้จ่ายภาคครัวเรือน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวดีกว่าที่คาดในช่วงครึ่งปีแรก หลังได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขยายตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยขยายตัวในเชิงปริมาณด้วย ท่ามกลางกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมยังคงมีอยู่ การส่งต่อผลบวกดังกล่าวมายังเศรษฐกิจในประเทศทั้งการลงทุน การจ้างงาน และรายได้ครัวเรือน ยังมีจำกัด
ขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนที่เติบโตดีมาจากแรงหนุนของการใช้จ่ายในส่วนของยานพาหนะ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดีในช่วงครึ่งปีแรก รวมถึงการสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกทำให้มีความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ยอดขายรถยนต์และจักรยานยนต์ในประเทศขยายตัวถึง 11.2% และ 4.3% ตามลำดับ
ส่วนการลงทุนภาครัฐยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2560 ท่ามกลางการลงทุนภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัว การลงทุนภาครัฐอาจจะชะลอตัวลงไปบ้างในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่คาดว่าจะกลับมาเร่งตัวได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 โดยคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณกลางปี 2560 ที่สูงขึ้น ตลอดจนการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2560 นอกจากนี้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐในหลายโครงการที่มีความล่าช้าจากในช่วงต้นปี ทั้งโครงการรถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 นี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกอาจจะผ่อนแรงลงจากช่วงครึ่งปีแรกจากปัจจัยด้านราคา จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแรงกดดันให้โน้มต่ำลงจากช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลต่อแรงบวกจากการขยายตัวของราคาส่งออกให้ชะลอตัวลงตาม นอกจากนี้แม้ทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีจะสวนทางกับการขยายตัวของการส่งออกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัวถึง 7.8% แต่จากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นแล้วไม่น้อยกว่า 7% จากช่วงต้นปี 2560 จะเป็นปัจจัยกดดันผู้ส่งออกในระยะต่อไป โดยเฉพาะผู้ส่งออกบางรายที่มีส่วนต่างกำไรที่ต่ำอยู่แล้วให้มีผลกำไรลดลงไปอีกเมื่อแปลงรายรับกลับมาเป็นเงินบาท
ขณะที่กำลังซื้อภาคครัวเรือนได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มการชะลอตัวของรายได้ภาคเกษตร ท่ามกลางเงินเฟ้อทั่วไปที่เป็นตัวสะท้อนถึงภาวะค่าครองชีพของครัวเรือนจะยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่จากทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอตัวลงจะเป็นแรงกดดันรายได้เกษตรในระยะที่เหลือของปี ประกอบกับรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่ไม่ได้ขยายตัว จะเป็นแรงกดดันต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะถัดไป ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐที่จะเริ่มในเดือนต.ค.60 คงจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการผ่อนปรนขยายระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 1 ม.ค.61 รวมถึงในช่วงระหว่างการปรับตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือน ภาครัฐมีการอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายในช่วงระหว่างวันที่ 24 ก.ค.–7 ส.ค.60 แต่จำนวนแรงงานต่างด้าวที่มาขึ้นทะเบียนในช่วงเวลาดังกล่าวกลับน้อยกว่าที่ทางการตั้งเป้าหมายไว้ถึง 8 แสน ถึง 1 ล้านคน สะท้อนว่าปัญหาการจัดการแรงงานต่างด้าวยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้าง เกษตร และบริการ ที่มีสัดส่วนการใช้แรงงานต่างด้าวสูง และอาจจะนำมาซึ่งต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น