SCB EIC ปรับประมาณการ GDP ปีนี้เพิ่มเป็น 3.6% หลังศก.โลกฟื้นตัวดีขึ้นหนุนส่งออกโตต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 21, 2017 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560 เติบโต 3.6% จากเดิมที่ 3.4% ตามมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยหนุนการส่งออกสินค้าให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตลอดปี 2560 และความกังวลทางการเมืองในยุโรปที่ลดลง จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้กับการค้าและการลงทุนและส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทยให้ฟื้นตัวได้ต่อในช่วงที่เหลือของปี

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงอาจทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องไม่สามารถขยายตัวได้สูงเทียบเท่ากับในช่วงครึ่งปีแรก อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังคงเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญของการค้าโลกที่ต้องติดตาม

สำหรับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในประเทศยังค่อนข้างอ่อนแอ เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานในช่วงครึ่งแรกของปีหดตัวลง 0.2% โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตลดลงถึง 3% แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของการส่งออกอาจไม่ได้ส่งผ่านไปสู่การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการส่งออกส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย นอกจากนี้ รายได้ภาคเกษตรก็มีแนวโน้มชะลอตามราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่เริ่มปรับตัวลดลงจากในช่วงต้นปี เช่น ราคายาง ราคามันสำปะหลัง ราคาปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐจะเข้ามาเป็นแรงสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศที่สำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งเม็ดเงินอัดฉีดจากงบกลางปี 2560 มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะกระจายสู่พื้นที่จังหวัดต่างๆ มากขึ้น และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่จะเริ่มแจกจ่ายในเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญในช่วงที่เหลือของปีคือ เงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชียในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าสินค้าที่ไทยส่งออกคล้ายกับกลุ่มประเทศในเอเชีย และมีตลาดส่งออกหลักเดียวกัน คือ สินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะ ข้าวและยางพารา โดยเงินบาทที่แข็งค่ายังมีส่วนกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในประเทศมีแนวโน้มลดต่ำลงตามส่วนต่างอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ส่งออกที่ลดลงจากเงินบาทที่แข็งค่า ดังนั้น เงินบาทที่แข็งค่าเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศและกำลังซื้อในประเทศในระยะต่อไปอีกด้วย

โดยวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2 ปี 2560 ขยายตัว 3.7% (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 1.3% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ทำให้ GDP ของไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ที่ 3.5%

สำหรับการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.2% เติบโตสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี จากการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า และเติบโตได้ดีในเกือบทุกตลาดส่งออก ยกเว้นการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดตะวันออกกลาง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งปัจจัยด้านราคาและปริมาณ โดยราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังเติบโตในไตรมาส 2 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันเติบโตสูงถึง 27% นอกจากนี้ ภาคการผลิตโลกที่ฟื้นตัวทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทย ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตตามไปด้วย

ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องภายหลังจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายและการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ส่งผลให้การส่งออกภาคบริการขยายตัวกว่า 8.8% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตเพียง 3.2% ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นกว่า 7.6% ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียเพิ่มขึ้น 0.1% และ 19.2% ตามลำดับ

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.0% ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักยังคงมาจากการบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ 13.6% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการออกรายการส่งเสริมการขายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทนค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เป็นต้น สะท้อนว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อยในประเทศยังไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจนนัก

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.2% โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวด ทั้งการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม และการก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย อาทิ โรงแรมและโรงพยาบาล รวมถึงการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรก็กลับมาขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมยังลดลงต่อเนื่องที่ 9.1% สะท้อนว่าภาคการผลิตยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้านี้แล้วและไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 2 หลังมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กได้เสร็จสิ้นโครงการไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ