นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทในปีนี้มาเป็น 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากประมาณการเดิม 34.50 บาท/ดอลลาร์ หลังจากแนวโน้มค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ไตรมาส 3/60 แข็งค่าสูงกว่าประมาณการของธนาคารที่คาดว่าอยู่ที่ 34.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
ปัจจัยที่หนุนให้ค่าเงินบางแข็งค่าขึ้นเป็นผลมาจากดุลบัญชีเงินสะพักที่เกินดุลมากกว่าที่คาด อัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ และกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าพันธบัตรในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า แม้ว่าจะมีแรงกดดันของการพิจารณาปรับลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะทำให้ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 4/60 อ่อนค่าลงเล็กน้อย
ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของเงินทุนไหลเข้า ธนาคารมองว่าเป็นการเตือนในเรื่องการเก็งกำไรที่เริ่มมีมากขึ้น แต่คาดว่า ธปท.อาจจะออกมาตรการที่ไม่รุนแรง เพราะหากออกมาตราการสกัดเงินไหลเข้าที่รุนแรงมาอาจจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในระยะยาว ซึ่งไม่เป็นผลดี โดยมองว่าแนวทางที่ดีนั้น ธปท.ควรมีมาตรการที่ส่งเสริมการไหลออกของเงินมากกว่าการสกัดเงินไหลเข้า
"ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าแบงก์ชาติจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเชื่อว่าคงจะไม่มีการออกมาตรการในลักษณะคุมเงินไหลเข้าออกในลักษณะ Capital Control เพราะแบงก์ชาติน่าจะเคยมีบทเรียนจากเมื่อตอนออกมาตรการคุมเงินไหลเข้า-ออก 30% เมื่อกว่า 10 ปีก่อนที่กระทบต่อเงินลงทุนทางตรงด้วย ไม่ใช่แค่เงินที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว แต่การป้องกันจากแบงก์ชาติน่าจะเป็นการส่งเสริมการไหลออกของเงินทุน เพิ่มเติมจากแนวทางการป้องกันการเก็งกำไรด้วยการลดปริมาณการออกตราสารหนี้ระยะสั้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่าการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของเงินบาทได้ 86% ในปีนี้ จากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่สามารถออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ให้คำมั่นไว้ในช่วงหาเสียง ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯลดลง ขณะเดียวกันเฟดยังไม่แน่ใจว่าทิศทางการปรับขึ้นของเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร แม้ว่าการว่างงานจะลดลง แต่หากมองย้อนไปในอดีตเหตุการณ์ที่อัตราว่างงานลดลงพร้อมกับเงินเฟ้อเคยเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่จะคงอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม มองว่าเฟดมีโอกาสพิจารณาการเริ่มลดขนาดงบดุล โดยยังคงดอกเบี้ยสหรัฐฯไว้ก่อนในปีนี้ เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพของการลดขนาดงบดุล โดยที่ไม่มีผลต่อการเพิ่มเงินเฟ้อมาเกี่ยวข้อง ซึ่งมองว่าการลดขนาดงบดุลจะทำให้สภาพคล่องของดอลลาร์สหรัฐฯค่อยๆลดลง โดยที่ตลาดไม่ได้ตั้งใจที่จะขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯในระยะยาว
ด้านเศรษฐกิจไทยหลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 2/60 ขยายตัว 3.7% เป็นผลมาจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่มีการเติบโตขึ้น จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกเป็นไปด้วยดี ทำให้การค้าโลกมีทิศทางการเติบโตในระดับที่ดี ทำให้การส่งออกไทยมีการขยายตัวได้สูง และแป็นปัจจัยที่หนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/60 ที่สูงกว่าคาด
แต่อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยกดดัน ทั้งจากการบริโภคที่ยังชะลอตัวเล็กน้อย และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดจากระดับเงินเฟ้อที่ต่ำ และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังมีความไม่มั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย โดยมองว่าการบริโภคในประเทศเป็นปัจจัยที่จะสะท้อนภาพของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจนที่สุด
"เราต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีโยบายด้านการคลังออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการบริโภคภายในประเทศ ที่จะช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยให้ดีขึ้นหรือไม่ นอกเหนือจากนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ ส่วนจีดีพีไนปีนี้ก็ยังโตตามศูนย์วิจัยฯที่คาดว่าเติบโต 3.4%"นายกอบสิทธิ์ กล่าว