นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในโอกาสเปิดงาน “50 ปีอาเซียน” ภายใต้แนวคิด “เดินหน้าสู่ AEC 2025” ว่า การก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ส่งผลให้มูลค่าการค้าในกลุ่มอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง เพราะภาษีนำเข้าลดลงเป็น 0% ในเกือบทุกรายการที่ค้าขายระหว่างกัน รวมทั้งอนุญาตให้นักลงทุนจากอาเซียนถือหุ้นในธุรกิจบริการได้อย่างน้อย 70% ซึ่งกรมฯ ต้องการให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าในอาเซียนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาเซียนได้กำหนดแผ่นแม่บท 2568 ร่วมกันในการพัฒนาตัวแปรสำคัญ 4 เรื่องหลัก คือ พัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) พัฒนานวัตกรรมทางการค้า และลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดการค้าโลกร่วมกัน
การพัฒนาทั้ง 4 ด้านเพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต และห่วงโซ่มูลค่าของโลก สนับสนุนให้อาเซียนตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการธุรกิจและระบบเศรษฐกิจภายในของสมาชิก
ทั้งนี้อาเซียน 9 ประเทศถือเป็นตลาดการค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 59 อาเซียนมีมูลค่าการค้ารวมกัน 270,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการค้าของไทยกับอาเซียนอยู่ที่ 91,000 ล้านเหรียญฯ แบ่งเป็น ไทยส่งออก 54,000 ล้านเหรียญฯ และไทยนำเข้า 36,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของอาเซียนให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน
"10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าอาเซียนเติบโตมากกว่า 30 เท่าตัว มูลค่าการลงทุนก็เช่นกัน แต่สิ่งที่กรมฯ อยากเห็น คือการตื่นตัวของคนไทย ให้เข้าใจและใช้ประโยชน์ตามข้อตกลงที่อาเซียนทำร่วมกันไว้ ไม่ว่าจะเป็น การลดภาษีนำเข้าสินค้าเป็น 0% รวมถึงการเปิดเสรีการลงทุน ที่จะทำให้เคลื่อนย้ายเงินทุนสะดวก และเสรีมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยยังใช้ประโยชน์ได้ไม่ 100%" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว