ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ "สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย" (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เรื่อง "แนวโน้มการลงทุนไทยในต่างประเทศ" พบว่า ปัจจัยหรือเหตุผลที่มีผลต่อการตัดสินใจทำการลงทุนในต่างประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 75% ระบุว่า เป็นการแสวงหาตลาดใหม่ และ/หรือรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมไว้ รองลงมา 33.33% ระบุว่า เป็นการแสวงหาวัตถุดิบและต้นทุนการจ้างแรงงานที่ถูกกว่าภายในประเทศ, 25% ระบุว่า เป็นการลดอุปสรรคทางการค้าจากการเข้าไปผลิตสินค้าในบางประเทศ เช่น การใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalised System of Preferences: GSP), 16.67% ระบุว่า เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ และ 8.33% ระบุว่า เป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ
ด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 56.25% ระบุว่า ประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นจึงพิจารณาขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ รองลงมา 42.19% ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจและการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศของประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV), 32.81% ระบุว่า ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น, 15.63% ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า, 9.38% ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ยังฟื้นตัวไม่แข็งแกร่งตามที่คาดไว้ (เอื้อต่อการเข้าควบรวมและ/หรือซื้อกิจการในประเทศเหล่านี้ในราคาถูก) และ 1.56% ระบุว่า ศักยภาพและความพร้อมทางด้านเงินลงทุนของผู้ประกอบการ
ด้านรูปแบบการลงทุนในต่างประเทศที่ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 66.67% ระบุว่า เป็นการลงทุนโดยร่วมทุนกับผู้ประกอบการในประเทศที่ไปลงทุน รองลงมา 41.67% ระบุว่า เป็นการลงทุนจัดตั้งบริษัทใหม่หรือขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ และ 8.33% ระบุว่า เป็นการลงทุนโดยการควบรวมกิจการ และเป็นการลงทุนซื้อกิจการที่มีอยู่เดิม ในสัดส่วนที่เท่ากัน
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพในการไปลงทุนในต่างประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 46.88% ระบุว่า เป็นการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมา 25.00% ระบุว่า เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 18.75% ระบุว่า เป็นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 12.50% ระบุว่า เป็นอุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ 12.50% ระบุว่า เป็นการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือ 10.94% ระบุว่า เป็นอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า 9.38% ระบุว่า เป็นอุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ 21.88% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ พลังงานทดแทน พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การท่องเที่ยว โรงแรม และภาคการบริการต่าง ๆ และ 6.25% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ส่วนแนวโน้มของผู้ประกอบการที่จะลงทุนในกลุ่มประเทศต่างๆ ในอนาคต (พร้อมเหตุผล) พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 54.69% ระบุว่า ไม่มีแนวโน้มที่จะลงทุน รองลงมา 37.50% ระบุว่า มีแนวโน้มที่จะลงทุน และ 7.81% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนผู้ที่มีแนวโน้มจะลงทุนนั้น 91.67% ระบุว่า เป็นกลุ่มประเทศ ASEAN เพราะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจของเอเชีย มีฐานข้อมูล และความเข้าใจตลาดลูกค้าในกลุ่มประเทศนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะสังคม ประเพณี และวัฒนธรรม สะดวกในการคมนาคม การแบ่งปันทรัพยากร มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง อีกทั้งต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานถูกกว่า รองลงมา 8.33% ระบุว่า เป็นกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติมาก และมีตลาดขนาดใหญ่ และ 4.17% ระบุว่า เป็นกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกา ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยให้เหตุผลว่า มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจและน่าจะเอื้อต่อการลงทุนได้ อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบมีราคาถูก และมีตลาดรองรับ มีทรัพยากรธรรมชาติที่มากมาย และสามารถนำบางอย่างกลับเข้ามายังประเทศไทยได้ และต้องการเปิดตลาดใหม่
สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับความสนใจที่จะขยายการลงทุนไปในกลุ่มประเทศต่าง ๆ อันเนื่องมาจากนโยบาย One Belt One Road ของจีน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 64.06% ระบุว่า เป็นกลุ่มประเทศ ASEAN รองลงมา 34.38% ระบุว่า เป็นจีน, 6.25% ระบุว่า เป็นสหภาพยุโรป, 4.69% ระบุว่า เป็นแอฟริกา, 3.13% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV และอินเดีย และ 10.94% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขอศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวก่อน
สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการออกไปลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 62.50% ระบุว่า เป็นการให้ความรู้เบื้องต้นตั้งแต่ขั้นตอนสำหรับการไปลงทุนต่างประเทศ ตลาดที่มีศักยภาพ ระบบภาษีกฎระเบียบการค้า การลงทุนของแต่ละประเทศ เป็นต้น รองลงมา 48.44% ระบุว่า เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบของประเทศต่างๆ ที่จะเข้าไปลงทุน การช่วยเหลือประสานงานกับภาครัฐและภาคเอกชนในต่างประเทศ, 43.75% ระบุว่า เป็นการปรับปรุงกฎระเบียบในการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศให้มีความทันสมัยและสะดวกต่อการไปลงทุนในต่างประเทศ, 39.06% ระบุว่า เป็นการสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินงานเพื่อออกไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งออก–นำเข้า การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต การจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น และ 4.69% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนไทยในต่างประเทศ ประกอบด้วย 1) ควรสนับสนุนด้านการให้ความรู้ คำแนะนำ ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีช่องทางการประสานงาน ในการติดต่อลงทุน 2) ภาครัฐ และสถาบันการเงินควรมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ 3) ควรเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว
4) ควรมีมาตรการหรือเงื่อนไขที่สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ 5) ในแต่ละประเทศควรมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐในการประสานงานการลงทุน การเจรจาหาคู่ค้า การจัดตั้งบริษัท เช่น สถานฑูต เนื่องจากปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะการจ้างนักกฎหมายในต่างประเทศและผลตอบรับที่ไม่แน่นอนและต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ และ 6) ควรเร่งพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อทั้งภายในและระหว่างประเทศ
อนึ่ง "นิด้าโพล" ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูง ตัวแทนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 64 ราย ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.- 4 ส.ค.60