นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ.ร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน จัดงานนิทรรศการแสดงศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ (IDEA Fest) โชว์ผลงานนำร่องยกระดับมาตรฐานการออกแบบจากโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและการออกแบบ (IDEA House) โดยหวังผลักดันผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 1.6 แสนคน
"โครงการ IDEA House นำร่องในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน นักออกแบบ และนักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปได้พัฒนาทั้งได้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ แฟชั่น กราฟฟิก และการจัดวางสินค้าให้น่าสนใจ และเรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับนักออกแบบ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าทางอุตสาหกรรมให้กับภูมิภาค โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์แบบบูรณาการ ซึ่งแตกต่างจากโครงการอื่นทั่วไปที่พัฒนาในด้านใดด้านหนึ่ง โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ในกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์และสามารถนำภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาปรับใช้กับความรู้ที่ได้รับเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและมูลค่าของสินค้าที่สูงขึ้นกว่า 20-30%" นายพรเทพ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินโครงการ IDEA House จะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ IDEA Fest ผ่านกิจกรรมต่างๆ 4 กิจกรรม ได้แก่ 1.กิจกรรมพัฒนานักออกแบบเพื่อผู้ประกอบการ (Design Savvy) เป็นกิจกรรมจับคู่ระหว่างนักออกแบบและ SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชนจำนวน 100 คู่ เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน โดยมีผลงานนำมาจัดแสดง 100 ผลงาน และผู้ประกอบการที่ผลงานโดดเด่นจะได้ไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ในงาน RED DOT DESIGN MUSEAM ณ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อสร้างประสบการณ์เรียนรู้กับนักออกแบบระดับโลก และมีโอกาสได้จัดแสดงในงาน Life Plus Style October 2017 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อแสดงศักยภาพด้านออกแบบในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนสู่ผู้ซื้อในระดับนานาชาติ
2.กิจกรรมปลุกพลังสร้างสรรค์กระตุ้นคลังความคิด (Creative Think Tank) กิจกรรมในรูปแบบเวิร์คช็อประยะสั้นสำหรับ SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชน โดยผลจากการดำเนินกิจกรรมนี้ออกมาในรูปแบบแบบจำลองแนวคิด/แบบจำลองธุรกิจ/แบบจำลองการพัฒนาสินค้า เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคนิควิธีการคิดหรือกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ ออกแบบ และนวัตกรรม ไปใช้ในการดำเนินกิจการของตน
3.กิจกรรมสนามประลองความคิดเพื่อสร้างนักคิดรุ่นใหม่ (Creative Amateur Playground : CAP) คัดเลือกนักศึกษาจำนวน 90 คน แบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 6 คน จับคู่กับ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย โดยเป็นการประลองความคิดระหว่างนักศึกษาและวิสาหกิจ 15 ราย สร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่และแนวคิดในการพัฒนาย่านหัตถกรรมซึ่งก็คือบ่อสร้าง และต้นเปา ย่านหัตถกรรมทำร่มและกระดาษสาชื่อดังของเชียงใหม่ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ท้องถิ่นนั้น
4.กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นด้านการออกแบบ (Design Counseling) ดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นด้านการออกแบบให้แก่ SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชนจำนวน 250 คน ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ด้านการออกแบบแฟชั่น (Fashion Design) ด้านการออกแบบกราฟิก (Graphic Design) และด้านการออกแบบดิสเพลย์ (Display Design) และคัดเลือก 25 กิจการ เพื่อพัฒนาต่อยอดสู่ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ต้นแบบบรรจุภัณฑ์ หรือต้นแบบชิ้นงาน โดยผลงานที่พัฒนานั้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่น้อยกว่า 20%
นายพรเทพ กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการออกแบบด้วย 4 โครงการข้างต้น มีผู้ประกอบการ นักออกแบบ และนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 800 ราย จาก 140 กิจการ ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน แต่สามารถดึงศักยภาพของผู้เข้าร่วมโครงการและสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างดี ซึ่งในงานนิทรรศการ IDEA Fest มีผลงานนำมาจัดแสดงรวมกว่า 150 ชิ้นงาน
ด้านนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 12 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 9 หมื่นล้านบาทต่อปี หากได้รับการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจของพื้นที่จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5-10% ต่อปีอย่างแน่นอน