นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะผู้แทนไทย โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมและศึกษาระบบงานการกำกับดูแลการถ่ายโอนเทคโนโลยี ณ มหาวิทยาลัยนาโกยา, มหาวิทยาลัยนานาชาติโยโกฮามา และบริษัท ฟูจิซึ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น, กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) เพื่อศึกษาระบบการตรวจสอบควบคุมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ (Technology and Knowledge : Techknow) ภายในองค์กร รวมทั้งการพิจารณาออกและการขออนุญาตส่ง Techknow ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นข้อกำหนดที่ไทยต้องปฏิบัติตามข้อมติสหประชาชาติ (UNSCR 1540) โดยต้องสอดคล้องกับหลักสากลและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า ซึ่งต้องไม่กระทบต่อกระบวนการพัฒนา Techknow ของภาคอุตสาหกรรมและสถาบันอุดมศึกษาของประเทศ
ทั้งนี้ METI ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลระบบ TCWMD ของญี่ปุ่น ได้กำหนดมาตรการดังกล่าว โดยให้ผู้ส่งออก, ผู้ถ่ายโอน ต้องตรวจสอบ Techknow ตามบัญชีควบคุม รวมทั้งการใช้และผู้ใช้สุดท้ายตามกฎหมาย ในกรณี Techknow เป็นรายการควบคุม, และ/หรือการใช้, ผู้ใช้สุดท้ายถูกกำหนดให้มีการตรวจสอบ, ผู้ส่งออก, ผู้ถ่ายโอนต้องขออนุญาต METI ก่อนดำเนินการ
อย่างไรก็ดี Techknow บางรายการไม่อยู่ในรายการควบคุม แต่ก่อนส่งหรือถ่ายโอนฯ ยังจำเป็นต้องตรวจสอบความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD หากคาดว่าจะมีความเสี่ยงจะต้องขออนุญาตต่อ METI ด้วยเช่นกัน
นางดวงพร กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยนาโกยา และมหาวิทยาลัยนานาชาติโยโกฮามา เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำอันดับต้นของญี่ปุ่นที่มีระบบการควบคุมการส่ง, ถ่ายโอน Techknow เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม แต่จะมุ่งเน้นการถ่ายโอนฯ มากกว่าการส่งออกฯ โดยเฉพาะการตรวจสอบคัดกรองบุคลากร, นักศึกษา, นักวิจัยก่อนเข้ารับความรู้ รวมถึงขณะได้รับการถ่ายทอดฯ ไปจนถึงการสิ้นสุดการถ่ายโอนฯ โดยสถาบันอุดมศึกษาจะติดตามตรวจสอบโดยเชื่อมโยงระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ภายในหน่วยงาน (Compliance Program : CP) ออนไลน์กับระบบ TCWMD ของ METI นอกจากนี้ คณะผู้แทนกรมฯ ยังได้ศึกษาดูระบบงานการควบคุม Techknow ของบริษัท Fujitsu Limited Kawasaki Main Office ด้วย ซึ่งบริษัทฯ ได้ใช้ระบบงาน CP ในการควบคุมฯ ก่อนส่งออกฯ เช่นกัน
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ญี่ปุ่นแสดงความชื่นชมไทยในการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะระบบ TCWMD เพื่อรองรับมาตรการภายใต้กฎหมายของไทย นับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการพัฒนาการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD รวมทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้ความสนใจกระบวนการสร้างการรับรู้และความเข้าใจระบบ TCWMD ด้วยการใช้สื่อ Info Graphic ที่มีเนื้อหากระชับ เข้าใจง่าย และสามารถเข้าถึงทุกคนในสังคม ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการแสดงความพร้อมและศักยภาพในการพัฒนาระบบ TCWMD พร้อมกันนี้ ญี่ปุ่นขอให้ไทยกระชับความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าไทยจะสามารถนำแนวทางการควบคุม Techknow จากการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ไปปรับใช้ และพัฒนาระบบของไทยให้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น