ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2560 ไว้ที่ 3.8% (กรอบที่ 3.5-4.5%) ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 8.2% เพื่อรอประเมินประเด็นความท้าทายต่อภาพการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะต่อไป
ทั้งนี้ แม้มูลค่าการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.ค.60) จะขยายตัวเฉลี่ยที่ 8.2% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งปี 2560 มีความเป็นไปได้ที่จะขยับเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการ 3.5-4.5% แต่ในระยะที่เหลือของปีนี้ ยังมีประเด็นความท้าทายที่อาจจะกระทบภาพการส่งออก ได้แก่
1.เส้นทางการขยายตัวของการส่งออกสินค้าศักยภาพมีความไม่แน่นอน หลายสินค้าเริ่มมีทิศทางการขยายตัวของมูลค่าส่งออกที่ชะลอลง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
2.เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกสำหรับปลายปี 2560 ที่อาจจะกระทบต่อกำไรส่วนต่าง (Margin) ของผู้ประกอบการ
3.แนวโน้มราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง อาจจะเป็นปัจจัยกดดันต่อมูลค่าส่งออกสินค้าในระยะข้างหน้า
4.แนวโน้มการส่งออกของจีนที่อาจจะอ่อนแรงลงในช่วงที่เหลือของปี 2560 จากเรื่องฐานและความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
ขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ค.60 ขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 27 เดือน โดยมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไทยในเดือน ก.ค.60 อยู่ที่ 19,040 ล้านดอลลาร์ฯ และ 18,852 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 18.5% และ 10.5% ตามลำดับ ซึ่งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีในเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานในปีก่อนที่ต่ำจากการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหลัก (ข้าว ยางพารา น้ำตาล และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) รวมถึงการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่หดตัวค่อนข้างมาก ประกอบกับได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังขยายตัวดีตามวัฏจักรขาขึ้น ตลอดจนเศรษฐกิจและการค้าโลกยังดำเนินไปในทิศทางที่ดีต่อเนื่อง
การนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวสูงในเดือน ก.ค.60 เป็นผลจากการนำเข้าเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (อาทิ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์, ทองคำ) รวมถึงสินค้าทุน (อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องบิน เครื่องร่อน และอุปกรณ์การบิน) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 29.3% และ 9.47% ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการขยายตัวดีของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย
โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวสูงบนเลข 2 หลักกลับมีความเชื่อมโยงต่อภาพการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนอย่างจำกัด ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.60) ขยายตัวสูงถึง 15.0% ในรูปเงินดอลลาร์ฯ และ 12.9% ในรูปเงินบาท แต่การลงทุนของภาคเอกชนในประเทศช่วงครึ่งปีแรกกลับขยายตัวเพียง 1.0%
การนำเข้าที่สูงใน 7 เดือนแรกของปี 60 มาจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามการส่งออกที่ขยายตัว รวมถึงเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าแทบจะไม่ขยายตัว เมื่อพิจารณาการนำเข้าสินค้าทุน (Capital Goods) แม้ในช่วงครึ่งปีแรกจะขยายตัว 7.4% (ในรูปเงินดอลลาร์ฯ) แต่ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวจากการนำเข้าเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ รวมไปถึงเรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ หากหักลบมูลค่าการนำเข้าสินค้าใน 2 หมวดนี้แล้ว พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวอยู่ที่ 3.1% (ในรูปเงินดอลลาร์ฯ) ซึ่งมาจากการขยายตัวของการนำเข้าผลิตภัณฑ์โลหะ การนำเข้าเครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้ง (โทรศัพท์ วิทยุ โทรเลข โทรทัศน์ และอุปกรณ์) รวมถึงการนำเข้าเทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์เป็นหลัก สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นยังกระจุกตัวอยู่เพียงในส่วนของภาคการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออกเท่านั้น
ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรกลสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวที่ -1.4% ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ (Equipment) ของภาคเอกชนที่อยู่ที่ 1.4% ในช่วงเดียวกัน ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลการลงทุนของภาคเอกชนในช่วง 20 ปีย้อนหลัง จะพบว่า มูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนส่วนใหญ่ราว 3 ใน 4 มาจากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์
โดยในช่วงปี 2544-2548 การลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงมาจากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นราว 14% โดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตัวเลขการนำเข้าเครื่องจักรกลสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวโดยเฉลี่ย 18.5% ดังนั้นภาพการนำเข้าสินค้าของไทยที่ขยายตัวสูงจากการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้น จะเป็นตัวสะท้อนภาพการฟื้นตัวของการลงทุนของภาคเอกชน