พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ปฎิรูปยั่งยืน พลิกฟื้นประเทศไทย" ในงานสัมมนา"บางกอกโพสต์ ฟอรั่ม 2017"ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0" ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลพร้อมทั้งกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเพื่อให้การบริหารแผ่นดินเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเน้นที่การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ" ที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ภายใต้คณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อทำหน้าที่จัดเตรียมสาระของยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และตรงกับความต้องการของประชาชน และจะส่งมอบต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปี ของแผนฯ ฉบับที่ 12 จะต้องเร่งกำจัดจุดอ่อนก่อนที่จะเร่งพัฒนาและเสริมจุดแข็งในช่วงเวลาต่อไป โดยมียุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปีเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องบรรลุเป็นเป้าหมายที่เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามเกณฑ์มาตรฐานนานาประเทศ และที่สำคัญคือ ประเทศไทยเป็นสังคมที่คนไทยมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมมีความสงบสุข สามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ ต้องเกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เป็นพลังประชารัฐเข้ามาร่วมรับผิดชอบและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในการดำเนินการให้ประสบผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
พร้อมทั้งเร่งปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปที่ตัวเอง โดยไม่แต่นั่งรอให้คนอื่นหรือหน่วยงานอื่นเปลี่ยนแปลงก่อน ด้วยพลังประชารัฐ ที่ผลักดันให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตก็สามารถบรรลุเป้าหมายอนาคตประเทศไทยที่เรียกได้ว่า “ประเทศพัฒนาแล้ว" และสามารถข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจะทำงานใน 2 มิติคู่ขนานกันไป โดยมิติแรก คือ การผนึกกำลังและสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการก้าวไปข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติที่ทุกคนในประเทศได้กำหนดขึ้นร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ประเทศไทยในอนาคต และมิติสองจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่สะสมมาในอดีต โดยการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและสร้างภูมิคุ้มกันในระดับพื้นฐานของการพัฒนา เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกันซึ่งเป็นไปตามแนวคิดที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
ทั้งนี้ อยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับทางรัฐบาล ในการเดินหน้าแก้ปัญหาของประเทศ อาทิ การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยต้องเน้นพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภาค ซึ่งจะต้องเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพก่อน
นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำบัตรสวัสดิการให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งคงจะไม่สามารถที่จะช่วยเหลือในทุกๆ ด้านได้ แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งนี้อยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับทางรัฐบาล ซึ่งอยากจะเห็นการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในกลุ่มเหล่านี้ด้วย
นอกจากนี้ มีแนวคิดอยากจะสร้างอุโมงค์ลอดระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร เพราะแม้ว่าจะสร้างรถไฟฟ้าครบทั้งหมดก็ยังไม่เพียงพอ จึงอยากให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน หากใครพร้อม รัฐบาลก็พร้อมจะลงทุนในลักษณะของการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP Fast track
ทั้งนี้ในช่วงตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศเป็นช่วงที่สังคมไทยกำลังมีปัญหาสะสมหลายด้าน ทั้งในด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย และปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางความคิด ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดความแตกแยกในสังคม จนทำให้ประเทศไม่สามารถที่จะพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้อย่างเร่งด่วน โดยมีนโยบายปฏิรูปประเทศในทุกด้าน เพื่อสร้างพื้นฐานของสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งและมั่นคงประชาชนมีความเป็นอยู่ทีดี่และมีความสุข และมุ่งส่งเสริมพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการขยายตัวและเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินงาน
"รัฐบาลนี้เดินหน้ายกระดับแก้ปัญหาทุจริต และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ให้ไว้"