(เพิ่มเติม) เวิลด์แบงก์ ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 60 โตได้ 3.5% และโตต่อเนื่องในปี 61 ที่ 3.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 24, 2017 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 60 จะเติบโตได้ 3.5% และคาดโตต่อเนื่องในปี 61 ที่ 3.6% โดยประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้เกิน 4% จากการแก้ไขข้อติดขัดเชิงโครงสร้างในเรื่องคุณภาพการศึกษา การเปิดเสรีภาคบริการ และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง หากการปฎิรูปและการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกถดถอย เช่น มาตรการป้องกันทางการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยและการฟื้นตัวของการลงทุนในภาคเอกชน

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 3.5% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ 3.2% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย ตลอดจนภาคส่งออกและการท่องเที่ยวที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยจะเห็นได้จากในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่ผ่านมาที่การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับประเทศในภูมิภาคที่เป็นผลมาจากทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี ยังมองว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวช้า การลงทุนยังอยู่ในระดับต่ำที่ 18% ของจีดีพี เพราะยังมีอุปสรรคระยะยาว เช่น ความไม่แน่นอนในนโยบายด้านการลงทุนระยะยาวว่าจะมีความต่อเนื่องหรือไม่ นอกจากนี้ หากพิจารณาผลสำรวจจากภาคธุรกิจจะพบว่ามีอุปสรรคด้านแรงงาน ตลอดจนการขนส่ง สาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น

"การลงทุนภาคเอกชนมีโอกาสจะโตได้ถึง 20% ถ้าทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการลงทุนภาครัฐมีความชัดเจน เช่น โครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน ก็จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนค่อนข้างจะให้ความสำคัญว่าเราจะทำได้ตามแผนหรือไม่" นายเกียรติพงศ์กล่าว

ในขณะที่การท่องเที่ยวยังมีโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ แต่อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และทักษะของบุคลากรในสายงานภาคท่องเที่ยวที่ต้องมีการพัฒนา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะยาว

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 61 ธนาคารโลกยังเชื่อว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3.6% มีปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 61 คือ การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาดีขึ้น และปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเริ่มลดลง

"เราปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้นจากเดิม 3.2% มาเป็น 3.5% ส่วนปีหน้ามองว่าประมาณ 3.6% ปรับขึ้นเพราะแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น หลักๆ มาจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ในขณะที่ในประเทศมีการฟื้นตัวจากภาคเกษตรเรื่องภัยแล้ง และมาตรการทางการคลังในการขยายการลงทุนภาครัฐ ที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ดีขึ้น...ปี 61 เรารวมปัจจัยการเมืองไว้แล้ว นักลงทุนจะพูดถึงความต่อเนื่องของนโยบาย ไม่ได้มองเรื่องเลือกตั้ง ตรงนี้น่าสนใจ เพราะหากย้อนไป 2 ปีก่อนก็จะถามกันแต่เรื่องเลือกตั้ง แต่ช่วงนี้กลับถามว่านโยบายจะเดินหน้าต่อเนื่องหรือไม่"นายเกียรติพงศ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพพอที่จะเติบโตได้สูงกว่าปีละ 4% หากให้ความสำคัญกับการปฏิรูปนโยบายใน 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาด้านการศึกษา 2.พัฒนาด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และ 3.การเปิดเสรีภาคบริการ รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทด้านเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ

นายเกียรติพงศ์ ประเมินว่า หากเศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในระดับ 3.5% อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 20 ปี ที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง แต่หากเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับ 5.5% ก็อาจช่วยร่นระยะเวลาในการเข้าสู่ประเทศรายได้สูงได้ในเวลาประมาณ 10 ปี

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมาก และได้เปิดตัวโครงการหลายโครงการ ตั้งแต่การขยายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งตั้งเป้าว่าภายในปี 61 ประเทศไทยทั้ง 75,000 หมู่บ้านจะสามารถเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตได้ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics Center) ซึ่งโครงการเหล่านี้มีจุดหมายเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อเครือข่าย และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ชุมชน ส่งเสริมการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้น

"นี่คือตัวอย่างของโครงการรัฐบาล เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัล ทั้งในเรื่องความปลอดภัย, โครงสร้างพื้นฐาน, ภาครัฐ, กำลังแรงงาน และท้ายสุด คือ แอพพลิเคชั่น" รมว.ดีอีระบุ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และจัดทำแผนแม่บท 20 ปีด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ 1.การลงทุนและสร้างฐานราก 2.การให้ทุกภาคส่วนในประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วม 3.การก้าวสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ และ 4.การบรรลุเป้ามหายของการอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำด้านดิจิทัล

ด้านนายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาค กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการให้บริการที่มีคุณภาพระดับสูง และกำลังช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งความรวดเร็วในการจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลนั้นจะต้องขยายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และให้คนไทยได้รับโอกาสและประโยชน์จากเศรษฐิจดิจิทัลอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับความต้องการด้านธุรกิจ และเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว

ทั้งนี้ ในรายงานติดตามเศรษฐกิจไทย ของธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย ได้แนะนำว่าประเทศไทยควรคำนึงถึงการพัฒนายุทธศาสตร์ดิจิทัลโดยใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง เน้นเรื่องการเพิ่มความสำคัญของข้อมูลในฐานะที่เป็นทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ และควรเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างบล็อกเชน เป็นต้น


แท็ก ธนาคารโลก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ