คลังจะเสนอมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อยเข้าครม. 1-2 สัปดาห์ เล็งแจกบัตร 21 ก.ย. คาดใช้งบมากกว่า 4 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 25, 2017 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายน้อยในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 สัปดาห์หน้านี้ ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น ค่าโดยสารรถเมล์-รถไฟ-บขส., ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า และการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้า เป็นต้น โดยคาดว่าจากเริ่มแจกจ่ายบัตรสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.นี้เป็นต้นไป เพื่อให้เริ่มทันการบังคับใช้ตั้งแต่เดือนต.ค.60

"ได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ที่กระบวนการและขั้นตอนต่างๆ คาดว่าจะเสนอเข้าครม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่การทำบัตรเราเริ่มแล้วเพื่อเตรียมจะแจกให้แก่ผู้มีสิทธิ ตั้งใจว่าจะเริ่มแจกบัตรตั้งแต่ 21 ก.ย. คงใช้เวลาประมาณ 10 วันเพื่อกระจายไปให้ทั่วถึงในต่างจังหวัด" รมว.คลังระบุ

ทั้งนี้ จากจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนในรอบแรกประมาณ 14 ล้านคนนั้น ภายหลังจากที่ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องพบว่ามีผู้มีรายได้น้อยที่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขถูกต้องที่จะได้รับสิทธิอยู่ประมาณ 11 ล้านคน และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกชั้นเพื่อให้ได้ผู้ที่มีรายได้น้อยที่จะผ่านหลักเกณฑ์ตามคุณสมบัติที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้อย่างแท้จริง

"หลังจากที่ให้นักศึกษาออกไปช่วยทำเซอร์เวย์ ก็จะต้องมีการพิจารณากันอีกรอบ ซึ่งพบว่ายังมีผู้มีรายได้น้อยที่คุณสมบัติไม่ตรง เช่น มีเงินฝาก มีที่ดิน มีรายได้เกิน พวกนี้ก็ต้องโดนตัดออกไปอีก ขั้นตอนนี้เราจะพยายามทำให้เสร็จภายในต้นเดือนก.ย." รมว.คลังกล่าว

พร้อมระบุว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้ในมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มาจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจำนวน 40,000 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะไม่เพียงพอ ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลจะเปิดให้ภาคเอกชนสามารถบริจาคเงินช่วยเหลือเข้ากองทุนดังกล่าวได้ โดยรัฐบาลจะพิจาณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อเป็นการจูงใจ เช่น สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายในการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

"การช่วยเหลือผู้มีรายได้นั้น มีเท่าไรก็ช่วยได้ไม่พอ แต่ด้วยงบที่เรามีอยู่แค่นี้ เราจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นมากที่สุด เงินที่ลงไปช่วยก็แค่บรรเทาความเดือดร้อน คงไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด คาดว่าคงจะใช้เกินจาก 4 หมื่นล้านบาท...มีความเป็นไปได้ที่จะมีการให้เอกชนบริจาคเข้ากองทุน แล้วรัฐจะให้สิทธิทางภาษีเพิ่มเติม เช่น ช่วยเรื่องการนำไปหักค่าใช้จ่ายในการชำระภาษี ซึ่งตรงนี้กำลังพิจารณา" รมว.คลัง ระบุ