บมจ.ไทยฮั้วยางพารา เล็งนำบริษัทลูก คือ "ไทรเบคก้า เอ็นเตอร์ไพร์ส" ซึ่งทำธุรกิจบริหารและพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ขณะนี้ขอรอดูความชัดเจนของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก่อนว่าจะต่อยอดและเชื่อมโยงกันได้อย่างไร รวมทั้งต้องใช้เงินเพิ่มทุนอีกเท่าไร
นายหลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยฮั้วยางพารา เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" ถึงที่มาของนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางว่า ไอเดียนี้เริ่มต้นเมื่อตอนเป็นนายกสมาคมยางพาราที่อยากแก้ปัญหาราคายางตกต่ำด้วยผลักดันปริมาณการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น แต่การสร้างโรงงานยางแค่ 1 โรง หรือ 2 โรงไม่มากพอที่จะเพิ่มการใช้ยางในประเทศ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาในจ.ระยอง ด้วยเงินลงทุน 1,800 ล้านบาท โดยถือหุ้น 100%
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่ยังไม่มีการบริหารจัดการปลายน้ำเป็นเรื่องเป็นราว จึงตั้งใจว่าต้องทำนิคมอุตสาหกรรมยางพาราบนพื้นที่กว่า 2,442 ไร่ ซึ่งเป็นนิคมสีเขียวเพราะผ่าน EIA แล้ว ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่า เพราะจะมีการผลิตทั้งล้อยาง สายพานยาง ท่อยาง ผลิตภัณฑ์ยางทั้งหลาย จนถึงตอนนี้นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางใช้เงินลงทุนไปแล้ว 3,240 ล้านบาท
"นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางถือเป็นโครงการประชารัฐเพราะเราร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เราประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องต้นน้ำ ส่งออกยางไปอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เพื่อให้บริษัทชั้นนำนำไปผลิตล้อยาง แต่ในประเทศไทยเองยังไม่มีศูนย์รวมของการทำกลางน้ำและปลายน้ำ เลยมีความตั้งใจว่าต้องทำนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยางพาราและต้องเป็นนิคมสีเขียว เอาสินค้าเกษตร เอายางพาราที่มีมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาเพื่อเพิ่มมูลค่า เกิดการจ้างงาน เกิดการพัฒนาทักษะ ฝีมือ"
ในเฟสแรกมีพื้นที่ 1,500 ไร่ ขายพื้นที่ได้แล้ว 600 ไร่ ยังเหลืออีกประมาณ 900 ไร่ ซึ่งมีแผนพัฒนาพื้นที่ที่เหลือ โดยตั้งเป้าจะมีโรงงานขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 5-10 โรงงานเข้ามาตั้งในนิคมฯ คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท และช่วยเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน/ปีภายใน 10 ปี จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ราคายางก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกเหมือนในอดีต
สำหรับ 5 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางในขณะนี้ คือ 1.บริษัท เซ็นจูรี่ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตยางรถยนต์ทั่วไปและยางล้อรถบรรทุก ใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ทำการผลิตและส่งออกแล้ว โดยมีบริษัท เอส จี บี บริหารธุรกิจ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
2.บริษัท เจ เอส วาย ลาเท็กซ์ โปรดักส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตหมอนและที่นอนยางพารา เพื่อส่งออกและขายในประเทศ 3.หวาอี้ กรุ๊ป ซึ่งร่วมทุนกับไทรเบคก้าฯ เพื่อผลิตยางล้อรถ 6 ล้อ 10 ล้อ ยางรถบัส และยางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมาย 2 ล้านเส้นต่อปี ส่งออก 99% ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มส่งออกได้ภายในปีนี้ 4.บริษัท เสินโจว ไทร์ ทุนจดทะเบียน 3 พันล้านบาท และ 5.LK Energy ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท
นายหลักชัย กล่าวว่า ในส่วนไทยฮั้วยางพาราเองยังคงแผนในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่คงเป็นช่วงหลังจากนำไทรเบคก้าฯ เข้าไปแล้ว ปัจจุบัน ไทยฮั้วฯ ได้พันธมิตรจากจีน คือ "ไทยกว๋างเขิ่น" เข้ามาร่วมทุนปลูกยางที่ลาวและกัมพูชา และเริ่มกรีดแล้ว และยังมีแผนจะตั้งโรงงานน้ำยางข้นและโรงงานยางแผ่นรมควันในปีนี้ และโรงงานยางแท่งในปีหน้า
จากปัจจุบันมีโรงงานผลิตยางแท่งและยางชนิดอื่นๆรวม 17 โรง กำลังผลิตรวม 6-7 แสนตัน/ปี และจากการร่วมทุนกับไทยกว๋างเขิ่นทำให้ตอนนี้มีโรงงานเพิ่มอีก 5 โรงงาน รวมเป็น 22 โรงงาน กำลังผลิตรวม 1.2 ล้านตัน/ปี โดยตั้งใจจะเดินไปสู่เป้าหมายเป็นบริษัทยางพาราอันดับ 1 ของโลก