SSI แพ้คดีที่ดิน น.ส. 3 ก.ที่ จ.ประจวบฯ ศาลชี้อยู่ในป่าสงวนห้ามออกเอกสารสิทธิ์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 29, 2017 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) กับพวกรวม 8 คน ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน กับพวกรวม 33 คน เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนและแก้ไขเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 52 ฉบับ ของบริษัท กับพวก และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีระบุว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ที่เพิกถอนและให้แก้ไขเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 52 ฉบับของผู้ฟ้องคดีทั้งแปด และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งแปด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณนี้ที่ปรากฏตัวตนชัดเจนก่อนวันที่ พ.ร.ฎ.กำหนดป่าคลองแม่รำพึงให้เป็นป่าคุ้มครองฯ มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2484 ดังนั้นที่ดินภายในแนวเขตแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.จึงเป็นเขตป่าคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2484 เป็นต้นมา

หลังจากนั้นเมื่อ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ก็ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดแจ้งการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณพิพาทที่อยู่นอกแนวเขตแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ต่อนายอำเภอบางสะพาน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณดังกล่าวมานำ หรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดินในการเดินสำรวจรังวัดเพื่อออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน

ซึ่งต่อมาเมื่อมีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 165 (พ.ศ.2509)ฯ กำหนดให้ป่าคลองแม่รำพึงภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงฯ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2510 จึงมีผลให้ที่ดินในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงฯ ซึ่งมีเขตพื้นที่ครอบคลุมทับที่ดินในแนวเขตป่าคุ้มครองเดิม ตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.กลายเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 เป็นต้นมา อันเป็นที่ดินมีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทุกประเภท

ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานที่ดินฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้ออก น.ส. 3 ก. ทั้ง 52 ฉบับ ให้แก่บุคคลที่ไม่สามารถออก น.ส. 3 ก.ให้ได้ และยังเป็นการออก น.ส. 3 ก.ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ น.ส. 3 ก.ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่เพิกถอนและให้แก้ไขเนื้อที่ใน น.ส. 3 ก.จำนวน 52 ฉบับ ของผู้ฟ้องคดีทั้งแปด และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งแปด จึงชอบด้วยกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ