รายงาน กนง.ระบุ แนวโน้มศก.ไทยขยายตัวชัดเจนขึ้นจากอุปสงค์ตปท.เป็นหลักแต่อุปสงค์ในประเทศโตยังไม่เข้มแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 30, 2017 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตัดสินคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% หลังจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ชัดเจนขึ้น จากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวยังไม่เข้มแข็ง แม้เริ่มเห็นการกระจายผลดีของภาคส่งออกไปยังภาคส่วนอื่นเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ชะลอลงอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระดับปัจจุบันยังมีความจำเป็นในการสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศเพื่อปิดช่องว่าง output gap ที่มีอยู่และการสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับตัวสูงขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะข้างหน้า

นอกจากนั้น กนง.เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้นจะมีผลจำกัด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลงจากปัจจัยด้านอุปทานและบางส่วนอาจมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อีกทั้งอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

กนง.ระบุปัจจัยส่าคัญที่มีผลต่อการพิจารณา คือ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนมากขึ้นจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยผลดีจากการส่งออกยังคงกระจุกตัวในบางภาคธุรกิจ และยังไม่ได้ส่งผ่านไปยังรายได้และการจ้างงานในวงกว้าง จึงทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็งนัก

นอกจากนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัวไปถึง SMEs ที่เน้นตลาดในประเทศและกลุ่มครัวเรือนมีรายได้น้อย นอกจากนี้ กรรมการส่วนหนึ่งแสดงความกังวลต่อการปรับตัวระยะสั้นของภาคเอกชนจากผลกระทบของนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในภาพรวม จึงควรคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นส่าคัญ แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่ง กนง.แสดงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ฟื้นตัวช้า แต่ยังเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น และเห็นว่าการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนในระดับปัจจุบันต่อไปจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะปานกลาง โดยอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ขณะที่กรรมการส่วนหนึ่งเสริมว่าความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดอยู่ในระดับต่ำ เพราะเศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย

ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด โดยกรรมการส่วนใหญ่แสดงความกังวลต่อ NPL โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดเล็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนข้อจำกัดในการปรับตัวต่อภาวะการแข่งขันและปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่กรรมการส่วนหนึ่งแสดงความกังวลว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เห็นว่าเริ่มปรับลดลงอาจไม่ได้สะท้อนกระบวนการลดภาระหนี้ (deleveraging) ที่แท้จริง สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังไม่ได้ขยายตัวอย่างเข้มแข็งนักในช่วงที่ผ่านมา

พร้อมกันนั้น กรรมการส่วนใหญ่ยังแสดงความกังวลต่อพฤติกรรม search for yield ที่เพิ่มขึ้นภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เช่น การลงทุนใน FIF การฝากเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ การลงทุนในตราสารหนี้ ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการระดมทุนระยะสั้น โดยเฉพาะในภาคที่การดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้าน maturity mismatch และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการแข่งขันมากขึ้นทั้งจากธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองและตลาดพันธบัตร ซึ่งทำให้ต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ต่ำกว่าที่ควรและอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของการลงทุนที่ต่ำเกินไป

ตลอดจนปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ในจุดอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ปรากฏชัดเจน โดยเฉพาะในจุดที่การกำกับดูแลยังไม่ครอบคลุม (regulatory gap) จึงเห็นว่าองค์กรกำกับดูแลภาคการเงินควรประสานงานอย่างใกล้ชิดและเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในออกมาตรการ macroprudential ที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ