นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าภายในและระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การยกระดับความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งก่อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจผลิตสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก ซึ่งอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศได้มากเป็นอันดับที่ 3 เป็นรองแค่ รถยนต์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์
โดยตลาดสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ยุโรป ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง โดยสินค้าที่ไทยส่งออกมาก ได้แก่ ทองคำ เครื่องประดับทองแท้ เครื่องประดับเงินแท้ และเพชร
สำหรับการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (รวมทองคำ) ปี 2559 มีมูลค่าอยู่ที่ 501,080.48 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.49% ต่อ GDP ของประเทศ
คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให กระทรวงพาณิชย์ โดย GIT ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาจัดทำและพัฒนามาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกอย่างกว้างขวาง รวมถึงกำหนดตราสัญลักษณ์กลางที่ใช้รับประกันคุณภาพ (Hallmark) สำหรับหมวดสินค้าเครื่องประดับโดยเฉพาะ
สำหรับเครื่องหมาย Hallmark นั้น GIT ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546-2559 โดยได้มีการศึกษากฎระเบียบของประเทศต่างๆ ที่มีการใช้ Hallmark เช่น ประเทศอังกฤษ และสวิสเซอร์แลนด์ และยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำร่างระเบียบและการรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่าของไทย และเมื่อในวันที่ 28 ส.ค.2560 GIT ได้จัดการประชุมว่าด้วยเรื่อง การออกระเบียบสถาบันฯ ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า พ.ศ.2560 หรือเครื่องหมาย Hallmark ที่ GIT จะนำมาใช้ในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโลหะมีค่า เพื่อยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
ทั้งนี้ การนำเครื่องหมาย Hallmark มาใช้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับให้กับไทย เพราะที่ผ่านมา ไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเครื่องประดับรายใหญ่ของโลก แต่การส่งออกเครื่องประดับของไทยยังขาดการรับรองตราสัญลักษณ์บนเครื่องประดับที่เป็นที่ยอมรับ และไม่มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของเครื่องประดับอย่างเป็นทางการ รวมถึงไม่มีกฎหมายเรื่องมาตรฐานเครื่องประดับ ซึ่ง GIT ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และได้เร่งแก้ไข เพื่อสร้างมาตรฐานและการรับรองมาตรฐานเครื่องประดับ
"หลังจากนี้ GIT จะดำเนินการแผนการสร้างการรับรู้และสร้าง การยอมรับให้กับเครื่องหมาย Hallmark ของไทย และ GIT จะผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ผลิตและส่งออกเครื่องประดับ ให้มาตรวจสอบคุณภาพเครื่องประดับโลหะมีค่าเพื่อขอการรับรอง Hallmark และจากนั้นจะเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้กับประเทศคู่ค้า เพื่อให้ยอมรับเครื่องหมาย Hallmark ของไทย ซึ่งจะทำให้การส่งออกเครื่องประดับมีความคล่องตัวมากขึ้น"นางดวงกมล กล่าว