สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ก.ค.ขยายตัวต่อเนื่อง รับการบริโภคเอกชน-ลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 30, 2017 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ก.ค.60 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 8.0% ต่อปี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 36.3% ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ สงขลา นครศรีธรรมราช และตรัง เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัว 4.0% และ 9.5% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตยางพารา และกุ้ง เป็นสำคัญ ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.60 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 1.6% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 5.1% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดชลบุรี ระยอง และสระแก้ว เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัว 4.9% และ 11.4% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตยางพารา และผลไม้ เป็นสำคัญ ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.60 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 2.3% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาคเอกชน การเกษตร และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 264.9% ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัว 2.5% และ 5.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.60 อยู่ในระดับต่ำที่ 1.0% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 1.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 956.2% ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ และขอนแก่น เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัว 3.5% และ 6.3% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.60 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาค 2.3% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 1.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน ภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 831.7% ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ นครสวรรค์ เชียงใหม่ และลำปาง เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัว 3.5% และ 5.4% ต่อปีตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.60 ลดลงมาอยู่ที่ -0.7% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 62.1% ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ นครปฐม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัว 4.3% และ 14.8% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.60 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในจังหวัดที่ 2.1% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจทรงตัว แต่ยังมีภาคเกษตรและการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัว 5.6% และ 9.5%ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปำหลัง สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ยังคงทรงตัว สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.60 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ