นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59-ก.ค.60) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,912,725 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,755 ล้านบาท หรือ 0.4% มีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 29,674 ล้านบาท หรือ 24.6% การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 24,889 หรือ 21.1% และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต สูงกว่าประมาณการ 6,375 ล้านบาท หรือ 1.4% โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเบียร์
"จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นไปตามการคาดการณ์ของกระทรวงการคลังและการติดตามผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลยังคงสูงกว่าประมาณการ สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ฯ แยกตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,403,492 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 60,322 ล้านบาท หรือ 4.1% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 25,703 ล้านบาท หรือ 1.9% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 41,252 ล้านบาท หรือ 6.3% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.4% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในประเทศเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.7%
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 35,836 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 24,864 ล้านบาท หรือ 41.0% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 18.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยของปี 2559 ต่ำกว่าข้อสมมติฐานที่ใช้ในการทำประมาณการ ทำให้กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีลดลง
อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 16,909 ล้านบาท หรือ 4.1% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.7% เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 50) และภาษีจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 465,863 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,375 ล้านบาท หรือ 1.4% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7.8% โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 18,192 ล้านบาท หรือ 11.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 24.8% เนื่องจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าประมาณการ การปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และการจัดเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนี้ ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,110 ล้านบาท หรือ 4.4% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.2%
กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 86,792 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,708 ล้านบาท หรือ 12.8% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7.7% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 13,794 ล้านบาท หรือ 14.2% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9.0% เนื่องจากผลกระทบของการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ระยะที่ 2 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ขยายตัว 11.9% และ 10.0% ตามลำดับ โดยสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 142,806 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 24,889 ล้านบาท หรือ 21.1% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 23.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้า ประกอบกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ปตท.(MCOT), สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โรงงานยาสูบ และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)
หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 150,407 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 29,674 ล้านบาท หรือ 24.6% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 45.1% สาเหตุสำคัญมาจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน และการนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 8,574 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2,941 ล้านบาท หรือ 52.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 52.6% โดยเป็นผลมาจากรายได้จากที่ราชพัสดุสูงกว่าประมาณการ 2,442 ล้านบาท หรือ 49.6% สาเหตุมาจากการปรับปรุงค่าเช่าสนามบินของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และการเปิดประมูลให้ใช้ที่ในท่าเรือภูเก็ต นอกจากนี้รายได้จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 502 ล้านบาท หรือ 72.7%
การคืนภาษีของกรมสรรพากรจำนวน 238,889 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,089 ล้านบาท หรือ 6.3% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 169,231 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 35,669 ล้านบาท หรือ 17.4% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 69,658 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,580 ล้านบาท หรือ 39.1%
อากรถอนคืนกรมศุลกากรจำนวน 8,151 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 259 ล้านบาท หรือ 3.1%
การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 12,601 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,833 ล้านบาท หรือ 12.7%
เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 14,311 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 719 ล้านบาท หรือ 4.8%
การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 7 งวด เป็นเงิน 62,683 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 53 ล้านบาท หรือ 0.1%