นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังว่า ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารลงพื้นที่แหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังเพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาด และชี้แจงสร้างความเข้าใจมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมการค้าภายในได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแล้วในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดมหาสารคาม อุบลราชธานี กำแพงเพชร เป็นต้น
และจากการลงพื้นที่ในจังหวัดมหาสารคาม พบว่าเกษตรกรมีการบริหารจัดการมันสำปะหลังและเชื่อมโยงผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ภายใน ในรูป “มหาสารคามโมเดล" ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงรับซื้อมันเส้นของกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ กับกลุ่มเกษตรกร ในการสร้างช่องทางการจำหน่าย การรวมกันซื้อรวมกันขาย และช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่ามันสำปะหลัง ภายใต้แนวคิด “โคนมมหาสารคาม ต้องกินมันมหาสารคาม เพื่อคนมหาสารคามจะได้กินนมโคมหาสารคาม" ซึ่งตนเองต้องการให้นำโมเดลดังกล่าวไปเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 20 ส.ค.60 จังหวัดนครราชสีมาได้นำ “มหาสารคามโมเดล" ไปดำเนินการแล้ว โดยกรมการค้าภายในได้จัดให้มีการเชื่อมโยงมันเส้นและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างโรงงานเอทานอล สหกรณ์โคนม กับสถาบันเกษตรกร ปริมาณมันเส้นประมาณ 21,500 ตัน ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาจะขยายผลการดำเนินการต่อไปในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้ ตนเองได้ประชุมร่วมกับหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจการค้า โดยในการประชุมดังกล่าวได้ประชาสัมพันธ์แนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปี 2560/61 จำนวน 14 โครงการ ที่ได้เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาส ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ซึ่ง ครม. ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการแล้ว พร้อมนี้ยังได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลังและการดูแลเกษตรกรเพิ่มเติม ดังนี้
1.ส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการเพาะปลูก และเพิ่มผลผลิต โดยใช้พันธุ์มันสำปะหลังที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร และเหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งปรับเปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนได้แล้ว ยังเป็นการบำรุงดินให้มีสภาพที่ดีและเหมาะสมต่อการเพาะปลูก
2.ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ซึ่งเป็นทางเลือกในการปลูกมันสำปะหลังที่สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและตลาดมีความต้องการสูง
3.ส่งเสริมการแปรรูปมันสำปะหลังเพื่อการบริโภค (มันกินได้) เพื่อสร้างช่องการจำหน่ายใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกร นอกเหนือจากการผลิตเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมในรูปแบบเดิม ซึ่งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยินดีที่จะประสานผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีศักยภาพและสนใจนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป