นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า เตรียมนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ฉบับสมบูรณ์ของโครงการโรงไฟฟ้าเทพาเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อีกครั้ง ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป
"กฟผ. ใช้เวลาในการศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA ประมาณ 1 ปี จากนั้นคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้ใช้เวลาในการพิจารณารายงาน EHIA อย่างรอบคอบอีกถึง 1 ปี 10 เดือน รวมเป็นเวลาเกือบ 3 ปี คชก. จึงได้พิจารณาเห็นว่าข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าวมีความครบถ้วน"นายสหรัฐ กล่าว
นายสหรัฐ กล่าวว่า นับตั้งแต่ กฟผ. ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทพา ได้มีการลงพื้นที่ให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกระตุ้นให้คนในชุมชนใช้สิทธิ์แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในหลายช่องทาง สำหรับในขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA นั้น กฟผ. ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งชาวจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดปัตตานี ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ EHIA ตั้งแต่ต้น และจัดเวทีให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างโปร่งใสทั้งจากผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พร้อมรับทุกข้อห่วงกังวลมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาโครงการร่วมกัน ข้อคิดเห็นและข้อวิตกกังวลทุกประเด็น ได้ถูกบันทึกและรวบรวมเป็นมาตรการเพื่อลดความวิตกกังวลและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP2015) เพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ที่ปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง โดยมี กฟผ. เป็นผู้รับผิดชอบศึกษาโครงการตามที่ครม. มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555
ทั้งนี้ กฟผ. เลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินการของโรงไฟฟ้าเทพาเป็นไปตามมาตรการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ ที่เปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ที่ www.egat.co.th โดย กฟผ. ต้องรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก 6 เดือน รวมถึงเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าอีกทางหนึ่งด้วย จึงมั่นใจได้ว่า กฟผ. จะดูแลให้โรงไฟฟ้าเทพาเป็นมิตรกับชุมชนอย่างแท้จริง