นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าขณะนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะเปิดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ยื่นคำขออนุญาตการดำเนินการมาตามขั้นตอนของพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการยื่นคำร้องใหม่ของบมจ.อัครา รีซอร์สเซส หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ถูกระงับการดำเนินการของโรงประกอบโลหกรรมตั้งแต่สิ้นปี 59 จากรณีดังกล่าวส่งผลให้อัคราฯต้องยุติการทำเหมืองแร่ทองคำด้วยเช่นกัน
"พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นโยบายด้านการทำเหมืองทองคำก็ให้มีการดำเนินการได้ แต่ความเข้มงวดให้เป็นไปตามนโยบาย และพ.ร.บ.แร่ ความเข้มงวดมีค่อนข้างเยอะ เรามีความสามารถในการสั่งปิดได้หากไม่ปฏิบัติตาม มีการตั้งหลักประกันกองทุนฟื้นฟูฯ...ตอนนี้เรายังไม่เปิด ซึ่งการเปิดพิจารณาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายที่ประกาศ ก็อยู่ระหว่างให้ดำเนินการยื่นเรื่องเข้ามา เหมืองทองไม่ได้มีบริษัทนี้เพียงบริษัทเดียว มีอีกหลายเจ้าที่ยังค้างคาอยู่ เพียงแต่อัคราฯเป็นเจ้าใหญ่ที่มีประเด็น แต่ทุกเจ้าเหมืองทองก็เหมือนกันหมด เราเปิดให้เขายื่นมาใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.แร่"นายสมชาย กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันทีมเจรจาของภาครัฐบาลที่ได้หารือกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด (คิงส์เกต) ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ. อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีและโรงประกอบโลหกรรม ก็ยังคงมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องแม้จะยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ก็มีความคืบหน้าด้วยดี ซึ่งเบื้องต้นไม่ได้มีการระบุถึงค่าชดเชยอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางคิงส์เกต เข้าใจถึงความห่วงใยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีออกมา โดยยืนยันว่าไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดเหมืองทองคำ แต่เป็นการระงับการออกใบอนุญาต เพื่อให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริง ความเป็นห่วงต่อสุขภาพของประชาชน
สำหรับการเจรจายังมีประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่าจะต้องดูแลผลประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุด ,ดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด ตลอดจนคำนึงถึงเงื่อนไขข้อผูกพันของไทยที่มีอยู่ในเวทีโลกด้วย ส่วนวงเงินที่มีกระแสข่าวว่าทางคิงส์เกต เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายราว 3 หมื่นล้านบาทนั้น ทางอัคราฯยืนยันว่าไม่ได้มีการระบุถึง และการเจรจาก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง