สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ค.60 อยู่ที่ 109.16 ขยายตัว 3.73% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ส่งผลให้ MPI 7 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 0.62% ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนก.ค.ที่ขยายตัวขึ้น3.7% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 7 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัว 0.62% ส่งสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เช่นเดียวกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง 14.2% รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว 9.5% และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง 11.5%
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ค.มีการขยายตัว ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.72% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์ดีเซลที่ได้ผลิตเครื่องยนต์รุ่นใหม่ จนได้รับความนิยมจากลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเน้นส่งออกให้กับลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC (อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) เป็นหลัก
ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.23% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยางแผ่น เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในปีก่อนส่งผลให้วัตถุดิบน้ำยางสำหรับผลิตมีจำนวนน้อยกว่าในปีนี้ อีกทั้งผู้ผลิตบางรายมีการเพิ่มทุนและขยายการผลิต ทำให้การผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก และยังมีแนวโน้มขยายตัวดีจากมาตรการส่งเสริมการใช้ในประเทศและจีนเริ่มกลับมาซื้อเนื่องจากสต็อกลดลง
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.19% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นไปตามเทรนด์เทคโนโลยี IoT ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีคำสั่งซื้อสินค้าจำพวก Other ICs และ PCBA มากขึ้น
เนื้อไก่แช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.44% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนจากผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็นที่ขยายช่องทางจำหน่ายไปยังร้านฟูดส์เซอร์วิส (โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร) มากขึ้น รวมถึงประเทศผู้ผลิตไก่รายใหญ่อย่างเกาหลีใต้ พบการระบาดของโรคไข้หวัดนก ทำให้หลายประเทศมีความต้องการนำเข้าเนื้อไก่จากไทย
อาหารทะเลแปรรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.32% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง และกุ้งแช่แข็ง ที่ได้รับคำสั่งซื้อปลาแช่แข็งจำนวนมาก (เนื้อปลาทูน่าขูด) จึงเร่งผลิตและส่งมอบ รวมถึงปีนี้วัตถุดิบกุ้งมีมากขึ้นเนื่องจากเกษตรกรสามารถจัดการปัญหาโรคตายด่วนได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีบางอุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง 27.82% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนน้อยกว่าปีก่อนและมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในปีนี้
คอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ ปรับตัวลดลง 21.47% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากมีโครงการที่ได้เร่งการผลิตเพื่อส่งมอบให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างไปแล้ว ส่งผลให้ปีนี้งานก่อสร้างต่าง ๆ ลดลงมาก แม้ว่างานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะยังคงมีอยู่ก็ตาม
เครื่องประดับ ปรับตัวลดลง 22.19% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อจากลูกค้ายุโรปและอเมริกา ภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ส่งผลให้ผู้สั่งซื้อชะลอการนำเข้า
เฟอร์นิเจอร์ ปรับตัวลดลง 22.09% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิต
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า สศอ.จะยังคงติดตามตัวเลขหลังสิ้นสุดไตรมาส 3 อีกครั้ง เพราะคาดว่าหลังเดือนต.ค.กิจกรรมหลายอย่างที่หยุดชะงักไปเพราะอยู่ในบรรยากาศที่ทำไม่ได้ น่าจะกลับมาคึกคักไปจนถึงต้นปีหน้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มขยายตัวดีทุกประเภท ทั้งปศุสัตว์ (ไก่และสัตว์ปีก) ประมง ผักและผลไม้ น้ำตาล แป้ง หลังจาก 7 เดือนแรก ด้านการผลิต ขยายตัว 19.9% โดยคาดว่าในไตรมาส 4/60 การผลิตอุตสาหกรรมอาหารจะขยายตัว 7% ทั้งปีน่าจะขยายตัว 3.9%
ด้านการส่งออกอาหารในไตรมาส 4/60 จะขยายตัว 9.3% ทั้งปีจะขยายตัว 8.2% โดยในช่วง 7 เดือนแรกการส่งออกอาหารขยายตัว 9%
"คาดว่า MPI ทั้งปีจะเติบโตตามเป้าหมายที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5-1.5% โดยในช่วง 5 เดือนที่เหลือหากจะให้ MPI ขยายตัว 0.5% ต้องทำได้เฉลี่ย 0.35% ต่อเดือน และหากจะทำให้ MPI ทั้งปีโต 1.5% แต่ละเดือนจะต้องขยายตัวที่ระดับ 2.75% ซึ่งในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปี 60 นี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จึงเชื่อว่า MPI ทั้งปีน่าจะโตประมาณกว่า 1% ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าทั้งปีน่าจะทำได้ตามกรอบเดิม 1-2% เนื่องจากในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ 1.2%" นายวีรศักดิ์ กล่าว
สำหรับปัจจัยสนับสนุน ได้แก่อานิสงค์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ชิ้นส่วนอากาศยาน ระบบราง รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์น่าจะทำให้นักลงทุนที่เตรียมจะลงทุนอยู่แล้วตัดสินใจลงทุนเร็วขึ้น เพราะมาตรการที่ออกมาจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง