นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท.ดบ.) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) พัฒนากระบวนการบริหารจัดการคลังสินค้า และการกระจายสินค้าให้มีมาตรฐาน โดยเริ่มตั้งแต่ระบบคลังสินค้าของสำนักงาน อ.ส.ค. ภาคกลางที่จังหวัดสระบุรี ระบบการขนส่ง กระจายสินค้า และส่งคืนสินค้าของสำนักงาน อ.ส.ค.ภาคเหนือตอนล่างที่ จังหวัดสุโขทัย และสำนักงาน อ.ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมและสินค้า ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ระบบการจัดส่งสินค้าถึงผู้บริโภค (Home Delivery) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และระบบการขายผลิตภัณฑ์บนระบบอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) โดยคาดว่าภายในปีนี้จะเห็นแอปพลิเคชั่นสั่งซื้อนมไทย-เดนมาร์ค และส่งตรงถึงบ้านด้วยการพัฒนาและการขนส่งของ ปณท อย่างแน่นอน โดยจะเริ่มในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลก่อน
"ระบบการจัดส่งสินค้าถึงผู้บริโภค (Home Delivery) ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และระบบการขายผลิตภัณฑ์ด้วยระบบ e-Commerce ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นและ อ.ส.ค.หวังว่าจะทำให้ประชาชนได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพส่งตรงถึงบ้าน และช่วยทำให้คนไทยบริโภคนมมากขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์นมแห่งชาติ รวมไปถึงเป็นการเพิ่มความภักดีในแบรนด์นมไทย-เดนมาร์ค (Brand Loyalty) กระตุ้นยอดจำหน่ายให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นายฐิติพงศ์ กล่าว
ส่วนการทำระบบบริหารจัดการคลังสินค้านั้น คาดว่าจะได้ทำภายในปีหน้า ซึ่งระบบคลังสินค้า และการกระจายสินค้าผลิตภัณฑ์นม ต้องอาศัยการจัดการที่มีมาตรฐานเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพที่สมบูรณ์ก่อนการนำส่งต่อถึงมือผู้บริโภค ซึ่งทางบริษัท ในฐานะผู้ให้บริการระบบงานโลจิสติกส์แบบครบวงจร (Total Logistics Solution) ได้นำเสนอโครงสร้างระบบคลังสินค้า (Plan Layout) ประกอบด้วยส่วนที่ปฏิบัติการด้วยระบบรถจัดเก็บชั้นวางคลังสินค้า (Radio Shuttle & Racking) และส่วนที่ปฏิบัติการด้วยระบบชั้นวางสินค้าแบบเลือกพาเลทได้ (Selective Pallet Rack)
นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบการจ่ายสินค้า มาก่อน-ใช้ก่อน (FIFO-First In First Out) เพื่อการบริหารจัดการระยะจัดเก็บ หรือเชลฟ์ไลฟ์ของสินค้า รวมไปถึงระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการแบบระบบอัตโนมัติ เพื่อป้องกันการเกิดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ (Human Error) นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันพัฒนาให้เกิดวิธีการขนส่งที่ประหยัดเชื่อเพลิงมากขึ้น (Hybrid Truck & Route Optimization) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า ปัจจุบัน อ.ส.ค.มีโรงงานผลิตกระจายอยู่ 5 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สุโขทัย, ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีคลังสินค้าทั้งที่เป็นของ อ.ส.ค.สร้างขึ้นเองและเช่าเอกชน ซึ่งการผลิตนมยูเอชทีแต่ละครั้งต้องนำมาเก็บไว้ที่คลัง 1 ก่อนเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ก่อนที่จะเก็บไว้ที่คลังที่ 2 เพื่อรอกระบวนการกระขายสินค้าไปยังห้างสรรพสินค้าและตัวแทนจำหน่ายรายย่อยในแต่ละภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาระบบการบริหารจัดการคงคลังยังมีจุดอ่อนอยู่ หากได้ประสบการณ์ทำงานของ ปณท. ดบ.มาช่วย คาดว่าจะทำให้ระบบบริหารจัดการสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่การส่งของถึงบ้านนั้นปกติตัวแทนจำหน่ายของบริษัททำเองอยู่แล้ว ด้วยการส่งกับ ปณท ดังนั้นหาก อ.ส.ค.มีความร่วมมือกับ ปณท โดยตรงจะยิ่งทำให้ผู้บริโภคสะดวกยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องการกระจายสินค้านั้นปัจจุบันบริษัทจ้างเอกชนอยู่แล้วปีละ 700-1,000 ล้านบาท หาก ปณท.ดบ.มีความสนใจที่จะทำงานร่วมกันในอนาคตก็สามารถเข้ามาประมูลโครงการได้
นายฐิติพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ากว่า 10 รายแล้ว คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีรายได้ 400 ล้านบาท โดยจะไม่ขาดทุนแน่นอน ส่วนจะกำไรมากน้อยเพียงใดนั้นยังไม่สามารถตอบได้ แต่มั่นใจว่าภายในปีหน้าบริษัทจะมีกำไรอย่างแน่นอน