นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในช่วงกลางเดือน ก.ย.จะสามารถประกาศค่าไฟฟ้าสำรอง (backup rate) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มใหม่ที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 33 กิโลวัตต์ (KW) ขึ้นไป แต่ยังมีความต้องการพึ่งพาระบบไฟฟ้าสำรองจากภาครัฐ โดยการผลิตไฟฟ้าใช้เองนั้นทำให้มาลดการใช้ไฟฟ้าของระบบลง ซึ่ง backup rate สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้จะอยู่ในช่วง 52.71-66.45 บาท/กิโลวัตต์ สำหรับกรณีทั่วไป และช่วง 26.36-33.22 บาท/กิโลวัตต์สำหรับกลุ่มโคเจนเนอเรชั่น
สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในกระบวนการที่จะต้องจ่ายค่า backup rate สำหรับกลุ่มนี้เบื้องต้นมีประมาณ 1-2 รายตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการจัดเก็บ backup rate จะเก็บจาก 2 กรณี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับลูกค้า แต่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้าสำรองของภาครัฐเพื่อขายให้กับภาครัฐ โดยมีการจัดเก็บสำหรับกรณี 1 ประเภททั่วไปที่ 52.71-66.45 บาท/กิโลวัตต์ และกรณี 2 สำหรับกลุ่มโคเจนเนอเรชั่น ที่ 26.36-33.22 บาท/กิโลวัตต์
ส่วนกลุ่มใหม่ที่จัดเก็บ backup rate ดังกล่าวนี้จัดอยู่ในกรณีที่ 3 ซึ่งวันนี้กกพ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องร่างหลักเกณฑ์การปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าสำรองเพื่อใช้เป็นการชั่วคราว
"เราเริ่มทำ focus group ตั้งแต่เดือนสิงหาคม วันนี้เราเชิญทุกกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งการไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรม สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้า เอกชนต่างๆ โรงงานน้ำตาล อัตราค่าไฟฟ้าสำรองนี้จะเป็นการจัดเก็บชั่วคราว ระหว่างที่รอการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่คาดว่าจะนำมาใช้ในปี 61...หลังจากรับฟังความเห็นในวันนี้แล้วก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการ กกพ.ไม่เกินกลางเดือนกันยายน ก็จะประกาศใช้ได้"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล ยืนยันว่าการจัดเก็บ backup rate จะไม่จัดเก็บสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของพลังงานทดแทนทั้ง 2 กลุ่มมีความกระจัดกระจายและมีการผลิตอยู่ในระดับที่ไม่มากจนถึงขั้นกระทบการผลิตไฟฟ้าหลัก โดยปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีเพียง 3,000 เมกะวัตต์ ไม่ถึง 1% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ขณะที่ระดับที่อาจกระทบการผลิตไฟฟ้าหลักจะต้องมีสัดส่วนมากถึง 20%
ส่วนความคืบหน้าการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้านั้นได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทั้งระบบ โดยจะต้องพิจารณาจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับปรับปรุงใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ รวมถึงจะมีความเข้มงวดในการพิจารณาต้นทุนค่าไฟฟ้าให้มากขึ้น จากเดิมที่ค่าไฟฟ้าจะมีการนำค่าลงทุนต่าง ๆ ของการไฟฟ้ามารวมด้วย แต่ในโครงสร้างใหม่จะให้มีเพียงค่าใช้จ่ายลงทุนของการไฟฟ้าเฉพาะเพื่อการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงการสร้างอาคารสำนักงานเหมือนในอดีต
ทั้งนี้ โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะมีการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ใหม่ รวมถึงการจัดเก็บ backup rate ใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ตั้งแต่ปี 61-65
อนึ่ง ปัจจุบันโครงสร้างค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานที่ระดับ 3.7556 บาท/หน่วย และค่าเอฟที อยู่ที่ - 24.77 สตางค์/หน่วย ขณะที่ค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ -15.90 สตางค์/หน่วย
นายวีระพล กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการประกาศอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) หรือสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะประกาศอัตราการตัดเก็บสำหรับนอกโครงการนำร่องภายในเดือนก.ย.นี้ จากปัจจุบันที่มีการใช้อัตราจัดเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับโครงการนำร่องในอัตราจัดเก็บสำหรับกลางวันที่ 4.10 บาท/หน่วย และช่วงกลางคืน เสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงออฟพีค อยู่ที่ 2.60 บาท/หน่วย
สำหรับผู้ประกอบการที่จะจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดต่ำกว่า 1,000 KVA ต้องจดแจ้ง แต่หากเกินกว่านั้นจะต้องขออนุญาตจาก กกพ.