นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560 – 2564 โดยมีพืชสมุนไพรเป้าหมาย 4 ชนิด ได้แก่ บัวบก ไพล กระชายดำ และขมิ้นชัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศและต่างประเทศ และยกระดับให้ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของอาเซียน
เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งความต้องการในการบริโภคเพื่อการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพ รวมถึงความต้องการในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสมุนไพรต่างๆ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสร้างความหลากหลายในการใช้ประโยชน์ ส่งผลให้สมุนไพรถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท และสมุนไพรบางรายการเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและผู้ผลิตเป็นอย่างสูง และสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ
ด้านายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่ชุมชนรู้จักสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์กว่า 1,800 ชนิด และมี 300 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพรที่หมุนเวียนในท้องตลาด และมีการส่งออกสมุนไพรเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท สารสกัดจากสมุนไพรมูลค่ากว่า 270 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และผลิตภัณฑ์รักษาผิวที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสมมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดโลกอุตสาหกรรมสมุนไพรในตลาดโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 91,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับอัตราการขยายตัวของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในแต่ละประเทศอยู่ที่ 3-12% ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพสูงที่สุดในตลาดสมุนไพร ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและกลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยประเทศที่มีมูลค่าทางการตลาดของสมุนไพรที่สูงได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส และมีแนวโน้มว่าตลาดสมุนไพรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีอัตราการขยายตัวของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ตลาดสมุนไพรและยาแผนโบราณในเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดสมุนไพรที่มีอัตราการขยายตัวที่มากที่สุด โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเป็น 9.1% ต่อปี