นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนา“LEARNING FROM THE PAST FOR THE FUTURE"ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมองว่ายังมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เนื่องจากภาคการส่งออกขยายตัวได้ดีกว่าที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้ เนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในระดับที่ค่อนข้างดี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ออกมาค่อนข้างดีนั้น มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลผลักดันในเรื่องดังกล่าว แต่ปัจจัยขับเคลื่อนภายในประเทศยังไม่เห็นการกลับมาฟื้นตัวมากนัก โดยเฉพาะกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนในระดับฐานราก เพราะการกระจายรายได้และเม็ดเงินยังไปไม่ถึงกลุ่มฐานราก ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ลดลงส่งผลต่อกำลังซื้อให้ลดลงตาม ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบถึงภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะมีผลกระทบเรื่องการดำเนินธุรกิจตามมา
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่น่าเป็นห่วงของประเทศในเรื่องเศรษฐกิจระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างประชากรที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายใน 10 ปีข้างหน้า หากมีกลุ่มคนผู้สูงอายุมากจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเติบโตได้ช้าลง และประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประชากรจะแก่ก่อนรวย ซึ่งต่างจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ประชากรจะรวยก่อนแก่ สิ่งนี้มองว่าเป็นปัจจัยที่ภาครัฐจะต้องเร่งหาทางแก้ไข อีกทั้งประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนางานด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้มากขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน
อีกทั้งการปรับปรุงด้านการศึกษาของไทยยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ศักยภาพของประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เพราะปัจจุบันการศึกษาของไทยแม้ว่าจะมีจำนวนชั่วโมงเรียนที่มากถึง 1,000 ชั่วโมง/ปี แต่ลำดับการศึกษาอยู่ลำดับที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่มีลำดับในการศึกษาที่สูงกว่าไทย แม้ว่าความเจริญยังไม่เทียบเท่าไทย
ส่วนด้านการบริหารของภาครัฐ มองว่าภาครัฐควรเปลี่ยนบทบาทให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจให้น้อยลง รวมไปถึงการออกกฏเกณฑ์ต่างๆ ต้องไม่เข้มงวดมากจนเกินไป ซึ่งภาครัฐจะต้องเปลี่ยนบทบาทหันมาดูด้านนโยบายและความเท่าเทียมกัน และไม่เป็นปัจจัยที่ขัดขวางการลงทุนต่างๆของเอกชน เพราะปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีการทำงานบางอย่างที่ไปขัดขวางการพัฒนาของพื้นที่ในบางจังหวัด ทำให้ความเจริญเข้าไปไม่ถึง
โดยการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐต้องลดบทบาทด้านการบริหารเศรษฐกิจลดลง พร้อมกับปรับโครงสร้างหน่วยงานใหม่ให้ดีขึ้น และให้ภาคเอกชนหรือหน่วยงานต่างๆร่วมกันลงทุนพัฒนา เปรียบเสมือนกับการทำหน้าที่แทนภาครัฐ เพราะภาคเอกชนหรือหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละพื้นที่มีความรู้จักว่าจะต้องพัฒนาอะไรให้กับพื้นที่ของตนเองที่อยู่ดีกว่าภาครัฐเข้ามาพัฒนา
ด้านธนาคารพาณิชย์ของไทยในปัจจุบันยังถือว่ามีความแข็งแกร่งอยู่มาก เพราะมีการตั้งสำรองฯอยู่ในระดับที่ดี ทำให้ยังไม่มีความน่าเป็นห่วงไนเรื่องการบริหารหนี้ แม้ว่าปัจจุบันแนวโน้มของหนี้เสียจะยังเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกิดหนี้สูญกันค่อนข้างมาก เพราะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นธุรกิจฐานรากได้รับผลกระทบในเรื่องกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศชะลอตัว ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเกิดปัญหาต่อกิจการ และทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายรายมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี
แต่อย่างไรก็ตาม หากธนาคารพาณิชย์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีมากเกิดไปจะส่งให้ประเทศเสียความมั่นคง เพราะภาคธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญที่ผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภาคในประเทศ และเป็นการสะท้อนไปถึงการกระจายไมรายได้ไปถึงกลุ่มคนฐานราก แต่ภาคการส่งออกนั้นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยควรหันมาผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น