นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงการจัดตั้งบริษัทลูกของบมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บมจ.ทีโอที (TOT) คือ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.) ว่า ยังต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ทำตามมติครม. และมีการจดทะเบียนบริษัทไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของบมจ. กสท โทรคมนาคม และบมจ. ทีโอที ต้องการยุบคณะกรรมการ (บอร์ด) จากเดิมที่ต่างคนต่างคนละบอร์ด เหลือเพียงบอร์ดชุดเดียวเพื่อดูแลธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท ไม่ให้การทำงานทับซ้อนกันนั้น ต้องมีการนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบกันระหว่างการรวมบอร์ดกับการตั้งบริษัทลูก
"ทั้ง 2 เรื่อง ต้องเดินหน้าคู่ขนานกัน สุดท้ายแล้วหากสิ่งไหนดีกว่ากันก็ต้องเลือกทางนั้น ...การวิเคราะห์ว่าสิ่งไหนดีที่สุดนั้น ต้องดูด้วยว่าทำแล้วใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ลดการทำงานทับซ้อน และแก้ปัญหาที่มีได้หรือไม่ ที่สำคัญความเห็นของทั้ง 2 บริษัท ทั้งฝ่ายบริหารและสหภาพต้องตรงกันทุกฝ่ายด้วย"
ด้านแหล่งข่าวระดับสูง จากกระทรวงดีอี กล่าวว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาดูเรื่องนี้และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์ทางออกที่ดีที่สุดนั้น คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมนัดแรกหากประชุมในสัปดาห์นี้ไม่ทันเพื่อให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด หากสุดท้ายแล้วต้องเป็นไปตามแนวทางที่ สรส.ทั้ง 2 บริษัทเสนอก็อาจจะขอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 แก้ปัญหานี้ได้ นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธาน สรส.บมจ.กสทฯ ยืนยันว่าการรวมบอร์ดเป็นชุดเดียวสามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย ขณะที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ล่าสุดที่ประกาศออกมายังมีการปรับปรุงแก้ไขให้ 2 รัฐวิสาหกิจทำงานคล่องตัวขึ้นด้วย
"การตั้งบริษัทลูกไม่ตอบโจทย์ที่ต้องการแก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจ เพราะปัญหาเดิมๆ ก็ยังคงอยู่กับบริษัทแม่ สุดท้ายหากไม่มีใครไปอยู่ที่บริษัทลูกก็เท่ากับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง...รัฐจะเดินหน้าตั้ง 2 บริษัทลูกเพื่ออะไร ในเมื่อปัจจุบันมีกฎหมายรองรับที่สามารถทำให้แก้ปัญหาการทำงานของ 2 รัฐวิสาหกิจได้" นายสังวรณ์ กล่าว