พาณิชย์ลงนาม MOU กับ SME Bank ปล่อยสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ โดยใช้กิจการเป็นหลักประกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 4, 2017 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank และธุรกิจแฟรนไชส์ ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทย ในธุรกิจแฟรนไชส์ให้สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดธุรกิจ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์

การดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันคัดเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในการส่งเสริมและพัฒนาของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเป็นธุรกิจนำร่องสำหรับปล่อยสินเชื่อให้กับผู้สนใจลงทุน(Franchisee) ในธุรกิจแฟรนไชส์ โดยจะต้องเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisor) ที่มีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์และการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และมีคุณสมบัติต่างๆ ตรงตามที่ SME Development Bank กำหนด

ทั้งนี้ ได้คัดเลือกแฟรนไชส์นำร่อง จำนวน 12 ราย แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 7 ธุรกิจได้แก่ N&B Pancake, กาแฟดอยช้าง, FUJIYAMA GOGO, Billion Coffee, ยูนนาน/แซ่บ Classic by ส.ขอนแก่น, โชคดีติ่มซำ และ Hokkaido Milk ธุรกิจบริการ 3 ธุรกิจ ได้แก่ OTTERI Wash & Dry, โมลีแคร์ และ PD House ธุรกิจการศึกษา 1 ธุรกิจ ได้แก่ โรงเรียนกวดวิชาและภาษาบ้านวิชากร และธุรกิจค้าปลีก 1 ธุรกิจ ได้แก่ Teddy House

"ธุรกิจแฟรนไชส์ในข้างต้น ได้ผ่านการพิจารณาแล้วว่าเป็นธุรกิจที่มีแผนธุรกิจชัดเจน และประสบผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาเป็นอย่างดี ดังนั้นแฟรนไชส์ซีที่สนใจเลือกซื้อธุรกิจนี้ จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถพาเงินทุนของท่านไปสู่ความสำเร็จได้ ลดความเสี่ยงในการลงทุนด้วยตนเอง และมีที่ปรึกษาช่วยวางแผนธุรกิจแบบมืออาชีพ และที่สำคัญจะได้รับการพิจารณาจากโครงการฯ ปล่อยสินเชื่อสำหรับนำมาลงทุนซื้อแฟรนไชส์ 12 ธุรกิจดังกล่าว โดยมีแผนการใช้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ซื้อมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งแฟรนไชส์ นับเป็นธุรกิจแรกที่จะใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุ

นอกจากนี้ ภายหลังการได้รับสินเชื่อแล้วกรมฯ และ SME Development Bank จะมีการประเมินติดตามการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจคอยให้คำปรึกษาทั้งด้านการเงิน การบัญชี และการขยายกิจการ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดความเข้มแข็งแก่ธุรกิจต่อไป และหลังจากนี้จะพิจารณาแฟรนไชส์ขนาดเล็ก เพื่อให้ผู้สนใจในระดับท้องถิ่นที่ต้องการมีอาชีพเป็นของตนเอง สามารถลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างมั่นใจและง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการดันเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. กล่าวว่า ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ ภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน วงเงิน 7,500 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม Start Up ที่ต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนนำไปเริ่มต้นธุรกิจในชุมชนแหล่งท่องเที่ยว หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) หรือภูมิลำเนา กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตามนโยบาย Local Economy ของรัฐบาล

สำหรับสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท กรณีจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) วงเงินต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท, นิติบุคคลสูงสุดต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยวงเงิน 5 ล้านบาทแรกไม่ต้องใช้หลักประกัน สามารถใช้ บสย.ค้ำประกัน ซึ่งจะได้รับการชดเชยค่าธรรมเนียม บสย. ใน 4 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมรวม 7 ปี กรณีใช้หลักประกันตามเกณฑ์ธนาคาร คิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย MLR –1.5% ต่อปี, ปีที่ 2 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MLR –1.0% ต่อปี, กรณีใช้หลักประกัน บสย. คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ลูกค้าจะได้รับการช่วยเหลือค่าธรรมเนียม บสย.ฟรี 4 ปี ปีละ 1.75% รวม 7% โดยรัฐบาลช่วยเหลือ 4% และอีก 3% เป็นการช่วยเหลือจากธนาคาร ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ชำระหนี้ปกติตามเกณฑ์ของธนาคาร

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค.60 มีธุรกิจเอสเอ็มอียื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจรวม 154,622 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 2,986,331 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็น 60.39% (มูลค่า 1,802,725 ล้านบาท)

รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ คิดเป็น 19.35% (มูลค่า 577,508 ล้านบาท) และสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็น 20.24% (มูลค่า 604,123 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็น 0.07% (มูลค่า 1,975 ล้านบาท)

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหลักทรัพย์ที่เป็นกิจการ ยังไม่เคยมีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจเลย ดังนั้นหาก ธพว. ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์นับเป็นธุรกิจแรกที่ใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ