นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 มีจำนวน 6,224,988.75 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.83% ของ GDP แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 4,803,543.97 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 967,658.32 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 438,271.67 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 15,514.79 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 39,491.75 ล้านบาท
สำหรับหนี้รัฐบาล จำนวน 4,803,543.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 43,586.19 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของหนี้รัฐบาล มีดังนี้ การกู้เงินตามแผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 รวมถึงเพื่อการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้น 34,510 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ระยะสั้น เพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของตั๋วเงินคลัง 20,000 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ระยะสั้นไปเป็นพันธบัตรรัฐบาล 14,000 ล้านบาท เงินกู้ระยะยาว เพิ่มขึ้น 28,510 ล้านบาท เนื่องจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ระยะสั้น 14,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง และส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมศักยภาพจำนวน 22,000 ล้านบาท และการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน 7,490 ล้านบาท
การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ จำนวน 9,642.10 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การกู้ให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 8,803.56 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 7,856.80 ล้านบาท สายสีเขียวจำนวน 620.73 ล้านบาท และสายสีน้ำเงินจำนวน 326.03 ล้านบาท และ (2) การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 838.54 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟ สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 419.83 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น จำนวน 328.65 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 90.06 ล้านบาท
การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) จำนวน 14.14 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
หนี้ต่างประเทศลดลงสุทธิ 551.77 ล้านบาท เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ
หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 967,658.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 339.42 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน ลดลง 950.63 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนหนี้สกุลเงินเยนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพิ่มขึ้น 1,290.05 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การชำระคืนต้นเงินกู้ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน
หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 438,271.67 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 3,464.11 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 15,514.79 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 969.75 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 จำนวน 6,224,988.75 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 5,918,951.70 ล้านบาท หรือ 95.08% และหนี้ต่างประเทศ 306,037.05 ล้านบาท (ประมาณ 9,160.82 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 4.92% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,565,098.20 ล้านบาท หรือ 89.40% และหนี้ระยะสั้น 659,890.55 ล้านบาท หรือ 10.60% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด