พาณิชย์ คลอด"ยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย"วางเป้าหมายเป็น HUB ของอาเซียน-เพิ่มรายได้ภาคบริการ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 5, 2017 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เผยยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทยตามนโยบายของกระทรวงฯ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ไปสู่ภาคบริการมากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจบริการอาเซียน เพิ่มรายได้ของภาคบริการ และส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจบริการระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น

"ด้วยความสำคัญของภาคบริการที่มีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงฯ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย โดยวางเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านธุรกิจบริการของอาเซียน" นางอภิรดี กล่าว

โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างนักรบธุรกิจบริการสู่ภูมิภาค (Service 4.0 Warrior) 2.การต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation-based Services) 3.การเชื่อมต่อธุรกิจบริการไทยสู่ตลาดโลก และ 4.การยกเครื่องด้านกฎหมายและข้อมูลธุรกิจบริการ พร้อมกับจะกำหนดธุรกิจบริการเป้าหมายเป็นรายจังหวัด/กลุ่มจังหวัด/ภาค โดยเน้นการพัฒนาผู้ให้บริการและยกระดับมาตรฐานบริการให้เป็นสากล

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจบริการถือเป็นภาคนอกการเกษตรที่มีความสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าในปี 2558 GDP ของประเทศไทย มีมูลค่า 13,533,596 ล้านบาท จำแนกเป็น GDP ภาคเกษตร 1,237,309 ล้านบาท หรือ 9.1% และ GDP ภาคนอกการเกษตรคิดเป็น 12,296,287 ล้านบาท หรือ 90.9% โดยมี GDP ภาคบริการสูงสุดคิดเป็น 7,841,743 ล้านบาท หรือ 64%

ขณะที่การค้าระหว่างประเทศจามข้อมูลของ WTO ระบุว่า การส่งออกบริการของไทยในปี 2558 อยู่ที่อันดับที่ 21 ของโลก และเลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 11 ในปี 2559 โดยมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 1.8% ของการส่งออกบริการทั้งโลก รองจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 6 และสูงกว่ามาเลเซียซึ่งอยู่ในลำดับที่ 18

สำหรับข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลในภาคธุรกิจบริการของประเทศไทยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำแนกตาม Thailand Standard Industrial Classification (TSIC) พบว่า จำนวนธุรกิจบริการที่มีผู้จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.ขายส่ง-ปลีก และซ่อมยานยนต์-จักรยานยนต์ 2.ก่อสร้าง 3.กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 4. กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 5.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (นำเที่ยว) 6.ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 8.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 9.ศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ และ 10.กิจกรรมทางการเงินการประกันภัย

หากดูรายได้รวมปี 2558 จากนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ธุรกิจที่มีรายได้สูงสุดตามลำดับได้แก่ 1.ขายส่ง-ปลีก และซ่อมยานยนต์-จักรยานยนต์ 2.กิจกรรมทางการเงินการประกันภัย 3.ก่อสร้าง 4.ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และ 5.กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แสดงให้เห็นว่าบางธุรกิจแม้จะมีจำนวนผู้ประกอบการในตลาดน้อย แต่ก็สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล เช่น ธุรกิจการเงินการประกันภัย เป็นต้น

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ กำหนดกลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมายไว้เป็น 2 ลักษณะ คือ ธุรกิจบริการ First S-Curve ได้แก่ 1.Wellness & Medical Services 2.Hospitality Services 3.Creative Services 4.Trade Support Services 5.Construction & Related Services 6.Education Services โดยมุ่งการส่งเสริมและพัฒนา Traditional Service สู่การเป็น High Value Service โดยอาศัยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ อาทิ e-commerce Logistics และ Fintech และธุรกิจบริการ New S-Curve ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการด้านสิ่งแวดล้อม 2.ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล 3.ธุรกิจบริการต่อยอด New S-curve ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมการให้บริการอย่างครบวงจร อาทิการซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ อากาศยาน ยานยนต์ในน้ำและยานยนต์ไร้คนขับ และการผลิต Digital Content

นอกจากนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย กระทรวงฯ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจบริการเพื่อให้เข้าถึงแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย โดยคำนึงถึงทรัพยากรและภูมิประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นแบ่งเป็น 6 Cluster ธุรกิจตามความเหมาะสมกับทรัพยากรท้องถิ่น ได้แก่ 1.Wellness & Medical Services:ภาคเหนือ และภาคกลาง 2.Hospitality Services:ภาคเหนือ และภาคกลาง 3.Creative Services:ภาคตะวันออกและภาคใต้ 4.Trade Support Services:ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ 5.Construction & Related Services:ภาคกลางตอนบนและภาคอีสาน และ 6.Education Services:ภาคใต้

"มั่นใจว่าหากประเทศไทยมียุทธศาสตร์ธุรกิจบริการที่ชัดเจนจะสามารถช่วยผลักดันรายได้จากธุรกิจบริการในประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจบริการทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของภาคบริการที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตและภาคการเกษตรได้อย่างลงตัว และท้ายที่สุดคือ ประเทศไทย จะสามารถเป็นศูนย์กลางของธุรกิจบริการในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ" รมว.พาณิชย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ