นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการผลิตพบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 9.99 แสนตัน และคาดว่าในปีนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากปัญหาภัยธรรมชาติที่ผ่อนคลาย แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาในเรื่องข้อจำกัดด้านการแข่งขันและปัจจัยภูมิศาสตร์เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย
ทั้งนี้ กสอ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้เตรียมความพร้อมในการเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันโดยมีกลยุทธ์ ดังนี้ กลยุทธ์การพัฒนากระบวนการผลิต โดยเสริมสร้างรากฐานการผลิตของน้ำมันปาล์มไทยให้มีประสิทธิภาพ เช่น การลดต้นทุนการผลิตและลดการสูญเสีย การส่งเสริมคุณภาพและการเพิ่มผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ โดยจะอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและการนำองค์ความรู้การวิจัยเข้ามาช่วย พร้อมผลักดันการเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากเดิมที่ 17% สู่ 20 – 22 %
กลยุทธ์การเสริมแกร่งด้วยการรวมกลุ่ม โดยส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำมันปาล์มและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างอำนาจในทางตลาดและการร่วมมือกันพัฒนาให้มีทิศทางเดียวกันในลักษณะแบบเพื่อนช่วยเพื่อน หรือพี่ช่วยน้องซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้
กลยุทธ์การสร้างความหลากหลายและการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยต้องส่งเสริมองค์ความรู้ในเรื่องห่วงโซ่มูลค่าพร้อมพัฒนาคุณภาพน้ำมันปาล์มเพื่อผลักดันสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ อาหารแปรรูป พลังงานทดแทน อุตสาหกรรม S-Curve เช่น โอลิโอเคมิคอลที่ใช้ในการผลิตสินค้าในกลุ่มการแพทย์ เวชสำอาง ตลอดจนการต่อยอดสู่สินค้าใหม่เฉพาะกลุ่ม อาทิ PCM หรือแผ่นกันความร้อนที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารในประเทศเขตหนาว เป็นต้น
กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ กลยุทธ์นี้มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบมากที่สุด โดยจะต้องสร้างความร่วมมือหน่วยงานที่ดูแลตั้งแต่ระบบต้นน้ำ – ปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันในการส่งเสริม ทั้งนี้ การปฏิบัติตามกระบวนการของมาตรฐาน RSPO (Roundtable For Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนนับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจเนื่องจากสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ โดยมีหลักการสำคัญ คือ การปฏิบัติตามกฎเพื่อความโปร่งใส การเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุดทั้งผู้ปลูกและผู้ผลิต ความรับผิดชอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และความมุ่งมั่นในการปรับปรุงสวนปาล์มและโรงสกัดให้เกิดอย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยส่งเสริมระบบต่าง ๆ ด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำ คุณภาพที่สม่ำเสมอมากขึ้น อาทิ ระบบควบคุมตรวจสอบ ระบบคัดแยก ระบบวิเคราะห์การผลิต เป็นต้น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลยังมีมาตรการในการสนับสนุนด้วยกองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในวงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับทั้งการสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด การแปรรูปของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม รวมทั้งกองทุน เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำทุนไปปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพครบทุกมิติ นายพสุ กล่าว