นายกฯ เสนอ 4 มุมมองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีการประชุม BRICS

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 6, 2017 09:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในโอกาสเข้าร่วมการประชุมระหว่างกลุ่ม BRICS และ EMDC ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญความไม่แน่นอนและท้าทายรอบด้าน เพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ทุกประเทศจึงต้องร่วมมือและหันหน้าเข้าหากัน

ทั้งนี้ ไทยเชื่อมั่นว่า ทุกประเทศมีนโยบายที่สอดคล้องกันในการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน หุ้นส่วนภูมิภาคยูเรเชียของรัสเซีย นโยบายรุกตะวันออกของ อินเดีย วาระปี ค.ศ. 2063 ของสหภาพแอฟริกา ยุทธศาสตร์การนำวาระ ค.ศ.2030 สู่การปฏิบัติในประเทศ และท้องถิ่นของบราซิล และวิสัยทัศน์ ค.ศ. 2030 ของอียิปต์ โดยหากพิจารณาศักยภาพทางเศรษฐกิจกลุ่ม BRICS และอีก 5 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมรวม 10 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกว่าร้อยละ 46 ของโลก สัดส่วน GDP รวมกว่าร้อยละ 30 ของโลก และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกว่าร้อยละ 46 ของโลก

ไทยเชื่อมั่นว่า ทุกประเทศสามารถร่วมกันสร้าง “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา" ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยการดึงศักยภาพ ความหลากหลาย และจุดแข็งที่แต่ละฝ่ายมีอยู่มาผนึกกำลังร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญ เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากร เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสันติภาพ ของภูมิภาคและโลก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอมุมมองจากประสบการณ์ของไทยใน 4 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง การสร้างความแข็งแกร่งจากภายในควบคู่กับการเติบโตไปพร้อมกันของเพื่อนบ้าน การพึ่งพาตนเอง เป็นหลักที่ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต มาเป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายในประเทศ และปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ไทยพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพร้อมร่วมมือกับกลุ่ม BRICS เพื่อร่วมกันช่วยเหลือประเทศที่สาม ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงร่วมมือกับภาคเอกชนผ่าน กลไกประชารัฐ

นอกจากนี้ ไทยมีแนวทาง “ประเทศไทย + 1" เพื่อสนับสนุนให้การลงทุนและความร่วมมือกับต่างประเทศ ขยายผลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของแต่ละประเทศ มาส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ประเด็นที่สอง การสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงรอบด้านในทุกมิติจะช่วยขยายโอกาส การคมนาคม ติดต่อสื่อสาร การเข้าถึงการศึกษาและธุรกิจ ตลอดจนกระจายความเจริญและรายได้ ไปยังภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืน

ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเป็นประตูเชื่อมโยงภูมิภาคอื่นกับเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคและอาเซียน โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมความเชื่อมโยงรอบด้าน เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น การพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก- ตะวันตก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Act East ของอินเดีย ตลอดจนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การผลักดันแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในกรอบอาเซียนและอื่น ๆ เช่น ACMECS IORA ACD ซึ่งเกื้อกูลข้อริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และจะนำมาซึ่งความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งในเอเชีย และไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ตัวอย่าง เช่น โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเชื่อมต่ออาเซียนไปยังภูมิภาคอื่น ๆ และจะรับกันได้ดีกับวิสัยทัศน์เพื่อความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030

ทั้งนี้ ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคือ แหล่งเงินทุนที่ต่อเนื่อง จึงต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของธนาคารเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ของกลุ่ม BRICS และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย ในการเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกสำหรับประเทศกาลังพัฒนา โดยต้องมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการให้กู้ยืม ที่เอื้อต่อการเข้าถึงเงินทุนของประเทศกำลังพัฒนาด้วย

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง คือ ความเชื่อมโยงระดับประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ BRICS สร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาคน Smart Human Capital ผ่าน ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา รวมทั้งอาชีวะศึกษา การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับเอกชน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและทักษะ แรงงานให้สอดคล้อง กับบริบทของตลาดและสังคมดิจิทัล ตลอดจน ด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม กับระดับการพัฒนา และมีราคาที่เข้าถึงได้

นอกจากนี้ BRICS ยังสามารถมีบทบาทนำในการเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ทั้งด้านการพัฒนากฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยของข้อมูล และการพัฒนาบุคลากรอย่างสมดุล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยง ระหว่างประชาชนให้ใกล้ชิดขึ้น และขยายการค้าและ การลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะ SME ผ่านการพัฒนา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการทางการเงินอื่น ๆ

ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไทยจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรอบความร่วมมือที่สำคัญ 3 กรอบ ได้แก่ ACMECS (พ.ศ. 2561) ASEAN (พ.ศ. 2562) และ APEC (พ.ศ. 2565) ไทยพร้อมจะจับมือสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับทุก ประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ ในการวางแผนและการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมกัน ซึ่งจะเกื้อกูลต่อการรวมตัวระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคอย่างแท้จริง

ประเด็นที่สาม นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมและสนับสนุนที่ BRICS มุ่งมั่นในการร่วมกันสร้างการเติบโตทาง เศรษฐกิจควบคู่กับการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยการยืนยันเจตนารมณ์ต่อพันธกรณี ภายใต้ความตกลงปารีส และร่วมมือกันในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในการต่อยอดต่อไป

ประเด็นที่สี่ ทุกประเทศต้องคำนึงถึงความต้องการและข้อจำกัดของผู้ที่มีส่วนร่วมเป็นสำคัญ และควรใช้ประโยชน์จากช่องทางความร่วมมือที่หลากหลาย ทั้งความร่วมมือเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ธรรมาภิบาลซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่กลุ่ม BRICS ยึดถือจะเป็นหลักประกันความไว้เนื้อ เชื่อใจและความร่วมมือให้ประสบผลสำเร็จ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในตอนท้ายว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่ม BRICS จะมุ่งขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เป็น จริงโดยจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมความร่วมมือเริ่มจากประเด็นที่ทำร่วมกันได้จริง โดยเฉพาะการสร้าง ความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน ประชาชน และดิจิทัล ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุของประเทศ กำลังพัฒนา โดยมีการตั้งเป้าชัดเจนในแต่ละปี และมีการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำมาซึ่งความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต่อทุกภูมิภาคและโลกต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ