ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือน ส.ค.60 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 74.5 จาก 73.9 ในเดือน ก.ค.60 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.4 จาก 62.2 ในเดือน ก.ค.60
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 69.7 จาก 69.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 91.5 จาก 90.4
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ส.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 2/60 ที่ 3.7% สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส อีกทั้งได้ปรับคาดการณ์ GDP ปี 60 เป็นโต 3.5-4.0% จากเดิมที่คาดเติบโต 3.3-3.8%, การส่งออกในเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นถึง 10.48%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50%, ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่อัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งคลายความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ
ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ราคาพืชผลทางเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ, ผู้บริโภคกังวลปัญหาค่าครองชีพและยังกังวลความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
"คาดว่าจากนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้น ตอนนี้คนรับรู้ว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวจะดีขึ้น คนเชื่อว่าการลงทุนภาครัฐจะมีเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งโครงการสวัสดิการต่างๆ ของรัฐที่ให้กับคนจนที่จะเริ่มลงไปในช่วงไตรมาส 4"นายธนวรรธน์ กล่าว
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองว่า การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างเด่นชัดขึ้นในไตรมาสที่ 4 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 3.5-4.0% ได้ในปีนี้
นายธนวรรธน์ ระบุว่า ล่าสุดยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.6% แต่มองว่ามีโอกาสสูงที่จะเติบโตได้ถึงระดับ 3.8-4% โดยขอรอดูแนวโน้มการส่งออกและสถานการณ์ด้านการลงทุนของภาครัฐในเดือนนี้ก่อนที่จะมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่อีกครั้งในเดือน ต.ค. พร้อมกับประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 61 ด้วย
"เรามองว่าไตรมาส 3 GDP มีโอกาสโตได้ 4% ส่วนไตรมาส 4 น่าจะโตได้มากกว่า 4% ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ในปีนี้ GDP จะโตได้ถึง 3.8-4% หากการส่งออกสามารถทำได้ไม่ต่ำกว่า 5% แต่ต้องขึ้นกับว่าจะไม่มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เช่น ในเกาหลีเหนือ เพราะถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และการท่องเที่ยวต้องไม่สะดุด" นายธนวรรธน์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/60 จะเติบโต 3.3% ไตรมาส 2/60 เติบโต 3.6% ส่วนไตรมาส 3/60 เติบโต 3.8% และไตรมาส 4/60 เติบโตได้ 4% เฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 3.6%