สนช.สรุปผลศึกษาตั๋วแมงมุมส่งต่อให้ รฟม.ดำเนินการต่อให้เสร็จทันใช้ 1 ต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 7, 2017 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวภายหลังเปิดสัมมนาโครงการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (Program Management Services: PMS) ว่า เป็นการสรุปผลการดำเนินงานก่อนที่ สนข.จะส่งต่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง รฟม.จะนำไปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เพื่อดำเนินการจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเตรียมลงนาม MOU กับ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพื่อเริ่มติดตั้งระบบตั๋วร่วมในรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับในเฟสแรกจะเริ่มใช้บัตรแมงมุมกับภาคขนส่งก่อน โดยวันที่ 1 ต.ค.60 ใช้กับบัตรผู้มีรายได้น้อยในระบบรถโดยสารประจำทางฟรีขององค์การขนส่งมวลขนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถไฟฟรีของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยจะมีการยกเลิกโครงการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เพื่อจัดสรรงบประมาณได้ตรงกับผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งขณะนี้ สนข.ได้ทยอยผลิตบัตรแมงมุมกับบัตรผู้มีรายได้น้อยจำนวน 1.37 ล้านใบ เพื่อส่งมอบและแจกจ่ายกับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนรถไฟฟ้า 4 สายจะมีการปรับปรุงระบบ โดยในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT และรถไฟฟ้า BTS เนื่องจากมีจำนวนสถานีมาก และมีเวลาในการติดตั้งระบบน้อยประมาณ 3 ชม.ต่อวัน ช่วงหลัง 01.00-04.00 น.เท่านั้น ซึ่งจะหารือให้ทยอยติดตั้ง 1-2 ช่องเพื่อเปิดใช้ก่อน

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้สามารถใช้บัตรผู้มีรายได้น้อยกับระบบรถไฟฟ้าได้ด้วย ซึ่งจะมีการหารือถึงแนวทางในการบริหารจัดการ โดยขณะนี้นโยบายบัตรผู้มีรายได้น้อยมีวงเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือผ่านบัตรสำหรับเดินทางต่อเดือน รถเมล์ 500 บาท รถไฟ 500 บาท และรถ บขส. 500 บาท โดยวงเงินขนส่งแต่ละประเภทจะไม่สามารถใช้ข้ามระบบกันได้ และตัดยอดทุกเดือน และนำไปใช้แทนกันไม่ได้ เนื่องจากบัตรจะระบุชื่อ มีรูปถ่ายเจ้าของบัตร หากจะนำไปใช้กับรถไฟฟ้าจะขยายกระเป๋าหรือวงเงินอย่างไร ทั้งนี้จะขึ้นกับกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาในการให้สวัสดิการและวงเงินงบประมาณที่มี

นอกจากนี้ จากการที่ สนข.ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการในภาคขนส่งและนอกภาคขนส่งเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม) ภาคเอกชนให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะธนาคาร ซึ่งมีผู้ถือบัตรเป็นสมาชิกของธนาคารจำนวนมากอยู่แล้ว สามารถนำชิพของระบบแมงมุมเข้าไปใส่ในบัตร ทำให้สามารถใช้ระบบขนส่งร่วมได้ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเพิ่มจำนวนผู้ถือบัตรแมงมุมอีกทาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ