นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า สดช.จะประกาศตัวเลขดัชนีชี้วัดด้านดิจิตอลของประเทศไทยเป็นครั้งแรกในเดือน ธ.ค.60 โดย สดช.ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดำเนินการวัดผลตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.60 และจะมีการคาดการณ์ตัวเลขของปี 2561 ด้วย เพื่อทำให้ประเทศไทยมีตัวชี้วัดด้านดิจิตอลเหมือนต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ที่มีการประกาศตัวเลขดัชนีชี้วัดด้านดิจิตอลของปี 2563 จะโตขึ้นเป็น 17% จากปี 2555 ที่มีดัชนีอยู่ที่ 12% ดังนั้นเมื่อประเทศไทยมีตัวเลขดังกล่าวแล้ว จะทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถนำไปอ้างอิงเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้
สำหรับในปีงบประมาณ 2561 สดช.ได้งบประมาณจำนวน 430 ล้านบาท แต่เป็นงบค่าใช้จ่ายประจำของสำนักงาน ไม่สามารถแปรงบประมาณไปดำเนินโครงการต่างๆ ได้ เนื่องจาก สดช.มีหน้าที่ดูแลด้านนโยบายของโครงการต่างๆ ในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและไม่ทับซ้อนกัน
"ที่ผ่านมาหาก สดช.จะทำโครงการอะไรก็ต้องทำเรื่องเสนอ รมว.ดีอี ก่อน เพราะกระทรวงฯ ยังมีเงินจากโครงการเน็ตประชารัฐที่เหลืออยู่มาทำโครงการที่เกี่ยวข้องกันได้ เช่น โครงการศูนย์ดิจิตอลชุมชน และโครงการหมู่บ้านชุมชนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป้าหมาย 300 แห่งภายในปีนี้ เป็นต้น" นางวรรณพร กล่าว
สำหรับความคืบหน้าโครงสร้าง สดช.นั้น ล่าสุดเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา รอแค่กระบวนการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จากนั้นก็จะสามารถจัดคนลงตามโครงสร้างใหม่ได้ทันที ขณะเดียวกันเรื่องของกำลังคนที่ต้องมีเพิ่มขึ้นจาก 111 คน เป็น 200 คนนั้นจะต้องดำเนินการไปด้วย โดยจะเปิดรับสมัครคนภายนอกเข้ามาทำงานด้วย ให้ดำเนินการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมี 4 พันธกิจหลัก คือ1.กำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 2.ส่งเสริมการบูรณาการทุกภาคส่วน 3.วางรากฐานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และ 4.ส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอล
เลขาธิการ สดช. กล่าวว่า โครงการที่ สดช.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ โครงการดิจิตอลเพื่อสุขภาพ (Digital for Health) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดีอีและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) ดำเนินการในโรงพยาบาล 10 คู่ กระจาย 4 ภาค ภายในปี 2561 ซึ่งมีโครงการนำร่องครอบคลุมโรงพยาบาล 116 แห่ง วางโครงสร้างพื้นฐานระบบโครงข่าย GIN ในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 116 แห่ง โดย สดช.จะเข้าไปขับเคลื่อนเชื่อมโยงการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ให้สามารถต่อเชื่อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการด้านสุขภาพ ได้แก่ โรงพยาบาลในชุมชนที่ห่างไกล และโรงพยาบาลระดับศูนย์ที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงในการให้บริการระบบแพทย์ทางไกล และโครงการดิจิตอลเพื่อการเกษตร ซึ่ง สดช.กำลังพิจารณา เพื่อเตรียมดำเนินการในการนำเอาประโยชน์ทางด้านดิจิตอลมาช่วยพัฒนาทางด้านการเกษตร
ในอนาคต สดช.มีแนวทางยกระดับภาคการเกษตรของประเทศผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอล เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิตอล มาช่วยในการคาดการณ์สภาพอากาศ และความเหมาะสมในการเพาะปลูกในสภาพอากาศนั้นๆ รายงานผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพผ่านการเซ็นเซอร์แปลงเพาะปลูก, การใช้ QR Code ในการนำผลผลิตออกสู่ตลาดหรือเข้าสู่วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น